#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
เรื่อง. จริงหรือไม่ที่เราทั้งหลาย “ต้องการแต่ผล ไม่ค่อยสนวิธีการ”?
เรื่อง. จริงหรือไม่ที่เราทั้งหลาย “ต้องการแต่ผล ไม่ค่อยสนวิธีการ”?
ในทางพุทธศาสนาพูดถึง เรื่อง อิทัปปัจจยตา “เมื่อมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้ย่อมเกิดขึ้น” (เรื่องของเหตุและผล) คือ การทำเหตุ ให้ถูกต้อง เดี๋ยวผลก็จะออกมาเอง หรือเป็นเรื่องของ กรรม คือการกระทำว่า “กระทำอย่างหนึ่ง ได้ผลอย่างหนึ่ง กระทำเปลี่ยนไป ผลที่ได้รับก็ย่อมเปลี่ยนไป”.
ขอยกตัวอย่างเรื่อง “ประเพณีการไหว้ตรุษจีน” ซึ่งการไหว้ตามธรรมเนียมปฏิบัติของชาวจีนนั้น ทำเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของบรรพบุรุษที่ท่านได้ทำให้เราในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ แต่ปัจจุบันนี้มีความเข้าใจผิด คือถือโอกาสใช้การไหว้นี้เพื่อไหว้ร้องขอจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์
หรือ เรื่องการสอบแข่งขันในระหว่างเรียนหนังสือ ในบางครั้งผู้ปกครองเองต่างพึ่งพาอำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้บุตรหลานสอบผ่าน, ต่อมาในช่วงที่เป็นวัยทำงาน เราต่างร้องขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้ประสบความสําเร็จในการทำงานนั้นๆ เป็นต้น, รวมถึงในยามเจ็บป่วย เราก็ยังคงต้องการให้หายจากการเจ็บป่วย นั้น ด้วยการพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดนี้คือ ตัวอย่างที่พบทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น ตอนนี้ มีโรคไวรัสโคโรน่าระบาดที่ประเทศจีน และแพร่กระจายมายังไทยด้วยแล้ว และสิ่งที่เกิดเป็นข่าวขึ้นว่า มีญาติผู้ป่วยชาวจีน ต้องการให้หมอผู้ไม่สามารถรักษาญาติของเขาได้ควรตายตกตามไป จึงเห็นว่า ญาติของผู้ป่วยท่านนี้เห็นแก่ตัวอย่างมาก
จาก ๓ ตัวอย่างที่กล่าวมา จะสังเกตเห็นได้ว่า สถานการณ์เหล่านี้นั้น เราไม่สามารถควบคุมได้ ด้วยเหตุว่า เราไม่มีความรู้ในเรื่องดังกล่าวอย่างเพียงพอ หรือ เพราะเราไม่เข้าใจในเรื่องดังกล่าวจึงเป็นต้นเหตุให้ต้องพึงพา เทพเจ้ากุมาร ฯลฯ สิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ อย่างแพร่หลาย
จึงเกิดมีคำถามว่า เพียงเพราะ……ต้องการแต่ผล จึงไม่ค่อยสนวิธีการ”? ใช่หรือไม่?
ซึ่งคนส่วนใหญ่ “ต้องการแต่ผล ไม่ค่อยสนวิธีการ” ปัญหาที่สำคัญอยู่ที่เราคาดหวังให้ผลที่เกิดขึ้นเป็นไปตามแบบที่ตนต้องการคือ ตามตัณหา ความอยากของเราเท่านั้น หลักพุทธศาสนาสอนว่า หาก “ผล”นั้น เกิดขึ้นจากความอยากที่ประกอบด้วยตัณหา จักทำให้เราไม่สนในอะไรเลยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะต้องไปเอารัดเอาเปรียบ เบียดเบียน เข่นฆ่า แย่งชิงเพื่อให้ได้มาตามตัณหาความอยากของเรา เช่นกรณีข่าว ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่ง บุกปล้นร้านทองและยิงทำร้ายผู้อื่นให้เสียชีวิต เพียงเพราะต้องการผล จากตัณหาความอยากให้มีเงินทองมาใช้จ่ายแก่ตนเท่านั้นเอง
อาตมามักพบคำถามจากผู้มาปฏิบัติธรรมว่า จะต้องใช้เวลาเท่าไรเพื่อจะเพียรทำสมาธิให้สำเร็จ เป็นต้น ซึ่งอาตมาเองก็ไม่สามารถตอบคำถามนั้นได้ เพราะขึ้นอยู่ว่า บุคคลนั้นมีอัตตาสูงแค่ไหน จึงเป็นข้อสรุปว่า คนเหล่านั้นต้องการแต่ผลไม่ค่อยสนวิธีการ หรือ คำพูดว่าปล่อยวาง นั้น ท่านปล่อยวางกันได้จริงหรือไม่ หรืออาจเป็นเพียงการพักชั่วคราวเพราะไม่สามารถแก้ปัญหานั้นได้.
ดังนั้น อะไรก็ตามที่เราประสงค์จะทำ หากเราทำด้วยตัณหาความอยาก ทำด้วยกิเลส จะนำมาซี่งความทุกข์เสมอ ซึ่งจะทำให้เราไม่สนในวิธีการ หรือขั้นตอนการปฏิบัติอีกต่อไป แต่ถ้าหากเราตั้งเป้าประสงค์ในวันนี้ ด้วยการกระทำที่เกิดจากความเหมาะสม ไม่ใช่เกิดจากความอยาก และพึงดูแลใส่ใจในกระบวนการ รวมถึงขั้นตอนการปฏิบัติเป็นสำคัญอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าเราต้องยอมแลกกับความเหน็ดเหนื่อย หรือยอมบาดเจ็บ เพื่อที่จะเรียนรู้ให้เกิดความชำนาญในเรื่องนั้น ๆ ก็ตาม และเมื่อเราทำเช่นนี้ได้แล้ว เรื่อง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือ เรื่องผลประโยชน์ต่างๆ จะค่อยๆ จางหายไปจากใจเราในที่สุด.
เรียบเรียงธรรมบรรยาย โดย ลลิต. มณีธรรม