#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

กิจกรรมเข้าวัดวันอาทิตย์

กิจฺโฉ มนุสฺสปฺปฏิลาโภ, กิจฺฉํ มจฺจานชีวิตํ, กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ, กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโทติ. แปลว่าการได้เป็นมนุษย์นั้นยาก การได้มีชีวิตอยู่วันหนึ่งเป็นของหาได้ยาก การได้ฟังธรรมการปฏิบัติ ฟังเรื่องการหลุดพ้นเป็นของหาได้ยาก

~ กิจโฉ มนสฺสปฏิลาโภ การได้ความเป็นมนุษย์เป็นเรื่องยาก มนุษย์ แปลว่า "ผู้มีจิตใจสูง" หมายถึงมนุษย์จำเป็นต้อง "มีคุณธรรม" ที่ทำให้แตกต่างจากสัตว์ ความมีจิตใจสูง คือ "คุณค่าของความเป็นมนุษย์" คนกับมนุษย์นั้นคือสัตว์ชนิดเดียวกัน แต่มนุษย์จะต่างกับคนทางด้านจิตใจ เพราะมนุษย์มีจิตใจสูงมีคุณธรรมของความเป็นมนุษย์ มีหลักคุณธรรมของผู้มีใจสูงหรือพรหมวิหารธรรม คือ

๑.เมตตา คือไมตรีจิตที่คิดจะให้

๒.กรุณา คือเอ็นดูหรือสงสารคิดจะช่วยเหลือให้พ้นทุกข์

๓.มุทิตา คือพลอยชื่นชมยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี

๔.อุเบกขา คือวางใจเป็นกลาง วางใจเฉย เป็นภาวะจิตที่ปกติ นิ่งไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ที่มากระทบ คือ รู้แล้วเฉย รู้เท่าทันมีสติปัญญารู้ตามความเป็นจริง

มนุษย์ในทางธรรมนั้นไม่ได้มุ่งหมายที่รูปร่างหรือร่างกาย แต่มุ่งหมายทางด้านจิตใจ เพราะสิ่งมีชีวิตมีองค์ประกอบ ๒ ส่วนคือร่างกายและจิตใจ ในทางธรรม คือ รูปกับนาม ~นาม คือ ส่วนที่เป็นความรู้สึกนึกคิด ไม่สามารถมองเห็นได้ ~รูป คือ ส่วนที่เป็นวัตถุร่างกาย มีลักษณะแบ่งหญิง ชาย ผิวขาวผิวดำ แตกต่างกันไปตามเผ่าพันธุ์ มองเห็นสัมผัสได้ พฤติกรรมที่แสดงออกทางกายทางวาจาไม่เบียดเบียนผู้อื่น คือมีศีล ท่านจึงบัญญัติว่าเป็นธรรมที่เป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษยธรรมแต่โบราณได้ระบุไปที่ศีล ๕ หรือสิกขาบท ๕ สิกขาบท ๘ ศีลเล็งถึงผลที่เกิดจากที่เราปฏิบัติตามสิกขาบทเหล่านั้น เป็นข้อประพฤติที่แสดงออกของทางกายทางวาจา เว้นจากการประทุษร้าย ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เว้นจากการประทุษร้ายลักขโมยสิ่งของผู้อื่น เว้นจากการประทุษร้ายของรักของชอบใจของหวงผู้อื่น เว้นจากการประทุษร้ายพูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เว้นจากการประทุษร้ายสติสมประดีของตัวเอง เว้นจากการดื่มสุราของมึนเมาสิ่งเสพติดให้โทษ ถ้าใครปฏิบัติได้ก็จะทำให้บุคคลนั้นมีศีล

~กิจฺฉํ มจฺจาน ชีวิตํ การได้มีชีวิตอยู่วันหนึ่งเป็นของหาได้ยาก ชีวิต (ความเป็นอยู่) ของสัตว์ทั้งหลาย เป็นเรื่องยากเมื่อเกิดมาแล้ว การที่จะรักษาชีวิตให้ดำเนินอยู่บนเส้นทางของการสร้างความดีไปได้ตลอดรอดฝั่งก็ทำได้ยาก เพราะภัยและอันตรายต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเรามีอยู่รอบตัว คน หมายถึง สัตว์ชนิดหนึ่งของโลก ที่ทำอะไรๆ ไปตามสัญชาติญาณที่มีมาแต่กำเนิด เช่นไม่รู้จักใช้สติปัญญา, ไม่รู้จักควบคุมตัวเอง, ชอบใช้กำลังในการแก้ปัญหา, ไม่รู้จักความกตัญญูกตเวที, ไม่รู้จักกริยามารยาทที่ดี, มักกระทำตามความรู้สึกเฉพาะหน้า, ไม่มีความเมตตากรุณา, เป็นต้น คำว่า มนุษย์ หมายถึง ผู้มีใจสูง คือมีใจสูงกว่าสัตว์ หรือสูงกว่าคน เพราะมีคุณธรรมของความเป็นมนุษย์ ซึ่งคุณธรรมของความเป็นมนุษย์นั้นก็ได้แก่ความกตัญญูกตเวที, ความมีเมตตากรุณา, ความสำรวมในกาม, การมีกิริยามารยาทดีงาม, การรู้จักควบคุมตัวเอง, และรู้จักใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหา พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่าในหมู่มนุษย์ผู้ที่ฝึกตนดีแล้วเป็นผู้ประเสริฐสูงสุดหรือจะเรียกในหมู่สัตว์ที่กำลังพัฒนาสติปัญญานั้นคือการปลูกต้นสัมมาทิฏฐิ ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐินั้นมี ๒ ประการ คือ

๑.ปรโตโฆสะ คือ เสียงจากผู้อื่น เสียงบอกเล่าจากครูบาอาจารย์ พ่อแม่ สิ่งแวดล้อมจากกัลยาณมิตร สำหรับคนทั่วไปนั้นต้องอาศัยปรโตโฆสะเป็นสำคัญ การบอกเล่าแนะนำสั่งสอนจากคนอื่น โดยเฉพาะการสดับพระสัทธรรมจากท่านผู้รู้ผู้เป็นบัณฑิต

๒.โยนิโสมนสิการ คือ การกระทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณา การใช้ความคิดถูกวิธี รู้จักคิด คิดเป็น ให้เห็นตามสภาวะและตามความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัย โยนิโสมนสิการนั้น เป็นสิ่งสำคัญในการที่จะบรรลุธรรม เข้าใจในพระสัทธรรมสามารถเข้าใจในอริยสัจ ๔ พระพุทธเจ้าตรัสว่า "โยนิโสมนสิการ" เป็นรุ่งอรุณของพระนิพพาน เป็นบุพพนิมิตของวันใหม่เป็นแสงเงินแสงทองของชีวิต เป็นสิ่งที่สูงสุดของความเป็นมนุษย์ มนุษย์เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่เนื้อสมองมากกว่าสัตว์ชนิดอื่นเมื่อเทียบกับร่างกาย เมื่อมีสมองมากจึงทำให้คิดได้มากและซับซ้อน ซึ่งนี่เป็นเหตุให้มนุษย์นั้นรู้จักคิดค้นและพัฒนาวัตถุต่างๆขึ้นมามากมายในโลก จนเกิดเป็นความเจริญอย่างเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่เพราะคนนั้นไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนให้เป็นคนดีและมีความรู้ที่ถูกต้องและควรรู้ในเรื่องของชีวิตว่าเกิดมาทำไม? อะไรคือสิ่งสูงสุดที่ควรได้รับ? และจะได้โดยวิธีใด?

~กิจฺฉํ สทฺธมฺมสวนํ คือการฟังพระสัทธรรมเป็นเรื่องยาก การที่จะได้มีโอกาสฟังธรรมของสัตตบุรุษเป็นสิ่งที่หาได้ยาก ในโบราณกาลผู้คนแสวงหาความรู้อันแท้จริงและปรารถนาที่จะสนทนากับนักปราชญ์บัณฑิต เพื่อที่จะได้ดำเนินชีวิตให้ถูกต้องตามคำสอนอันประเสริฐ การได้ฟังพระสัทธรรม คือธรรมที่ดี ธรรมที่แท้ของสัตตบุรุษหรือหลักศาสนา ประกอบด้วย

๑.ปริยัตติสัทธรรม หมายถึง สัทธรรมคือคำสั่งสอนอันจะต้องศึกษาเล่าเรียน เกิดจากความรู้ต่างๆ

๒.ปฏิปัตติสัทธรรม หมายถึง สัทธรรมคือปฏิปทาอันจะต้องปฏิบัติ ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ หรือไตรสิกขา ทำให้ชีวิตสงบสุขสามรถดับทุกข์ได้

๓.ปฏิเวธสัทธรรม หมายถึง สัทธรรมคือ ผลอันจะพึงเข้าถึงหรือบรรลุด้วยการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าตรัสว่าในหมู่มนุษย์ สิ่งที่จะช่วยพัฒนาจิตใจของคนให้สูงขึ้นมาเป็นมนุษย์ได้นั้น พื้นฐานก็ต้องอาศัยศาสนามาช่วย โดยการปลูกฝังตั้งแต่ยังเด็กให้รู้จักว่า ชีวิตต้องพึ่งพาอาศัยกัน ต้องช่วยเหลือกัน รู้จักให้อภัย รู้จักเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ทำอะไรตามใจ ไม่ล่วงละเมิดชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ใช้กำลังในการแก้ปัญหา ไม่ลุ่มหลงสิ่งเสพติด ก็จะทำให้คนนั้นก้าวพ้นจากคนมาเป็นมนุษย์ได้ แต่ถ้าจะให้เป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ได้ จะต้องอบรมให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งชีวิตว่าชีวิตของเราและทุกคนนั้นเกิดมาเพื่อทำหน้าที่ อันได้แก่ หน้าที่ในการดูแลรักษาร่างกาย หน้าที่ในการดูแลครอบครัว สังคม ประเทศชาติ หน้าที่ในการดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หน้าที่ในการรักษาสันติภาพให้แก่โลก และหน้าที่ในการดับทุกข์ของจิตใจ เมื่อคนมีความเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์แล้ว สันติสุขก็จักบังเกิดแก่มนุษย์ทุกคน และสันติภาพก็จะบังเกิดขึ้น เป็นมนุษย์ที่หมายถึงสัตว์ที่ประเสริฐ อันจะทำให้ได้รับสิ่งสูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ

~กิจโฉ พุทฺธนมุปฺปาโท การเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นเรื่องยาก พระโพธิสัตว์แต่ละพระองค์ กว่าจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ต้องสร้างบารมีกันยาวนาน เพื่อมุ่งหวังพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ การอุบัติขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์จึงเป็นการยาก พุทธะที่มีมากมายกล่าวไว้แต่ในอดีต คือปัจเจกะพุทธะ คือผู้รู้ได้เฉพาะตน ไม่สามารถบอกสอนผู้อื่นได้ แต่ "พระสัมมาสัมพุทธะ" คือผู้รู้เฉพาะตนแล้วแต่สามารถสอนผู้อื่นให้รู้ตามด้วยตามบัญญัติที่มีปรากฎในธัมมจักรกัปปวัตนสูตร คือต้องประกาศตนให้ผู้อื่นทราบ ปฏิญาณตนว่าเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อรู้แล้วก็แนะนำสั่งสอนให้ผู้อื่นรู้อริยสัจ ๔ พุทธะ ผู้รู้ รู้อะไร คือรู้ทุกข์ รู้เหตุแห่งทุกข์ รู้ความดับสิ้นไปของทุกข์ รู้วิธีปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความสิ้นไปของกิเลสต้องการที่จะเข้าถึงความสิ้นไปของทุกข์ ท่านจำแนกแยกแยะให้เราได้เข้าใจให้เราได้ปฏิบัติตาม สมัยหนึ่งโทณพราหมณ์ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ท่านผู้เจริญเป็นเทวดาหรือ ท่านผู้เจริญเป็นคนธรรพ์หรือ ท่านผู้เจริญเป็นยักษ์หรือ ท่านผู้เจริญเป็นมนุษย์หรือ พระพุทธองค์ทรงตรัสตอบว่า มิใช่ แล้วตรัสว่าพราหมณ์เอย "กิเลสอาสวะเหล่าใดที่ยังเราให้เกิดเป็นเทวดา กิเลสอาสวะเหล่าใดที่ยังเราให้เกิดเป็นยักษ์ เป็นคนธรรพ์หรือเป็นมนุษย์ เราได้ละแล้ว เปรียบเสมือนต้นตาลยอดด้วน ไม่สามารถแตกหน่อแตกกอ แตกกิ่งได้แล้ว ไม่เติบโตเเล้ว" นอกจากนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่าเรานั้นอุปมาเหมือน บัวหลวง บัวขาว บัวเขียว เกิดในน้ำเจริญในน้ำแต่ก็สามารถโผล่พ้นน้ำได้ ได้รับแสงสว่างก็เบิกบานฉันใดก็ดี เราเกิดในโลก เจริญในโลก แต่ไม่จมอยู่ในโลก อยู่เหนือโลก อันโลกในความหมายของพระพุทธเจ้านั้นมองในมุมของธรรมมะ คำว่าโลกคำว่าทุกข์นั้นเป็นสิ่งเดียวกัน พระพุทธองค์ตรัสว่า “เราบัญญัติไว้ในร่างกายที่ยาววาพร้อมด้วยสัญญาและใจ" ไม่ได้หมายถึงแผ่นดินโลกกลมๆ ทุกข์ก็ดี เหตุให้เกิดทุกข์ก็ดี ความดับสิ้นไปของทุกข์ก็ดี เราตถาคตได้บัญญัติไว้ "ที่ร่างกายยาววาพร้อมด้วยสัญญาและใจ" ก็คือโลกก็คือทุกข์ ทุกข์ก็คือโลก ตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้ทาง บอกทางให้เราได้ศึกษาเป็นแนวทางให้พวกเราได้ปฏิบัติ มีความเพียรเป็นที่ตั้ง ดำเนินไปแล้วก็จะพ้นไปจากบ่วงมาร พ้นไปจากอำนาจของกิเลส พ้นไปจากอำนาจของความทุกข์ได้ ทั้งทางการปฏิบัติธรรมตลอดจนถึงการศึกษาต้องต่อสู้กับกิเลส ต่อสู้กับความเคยชินที่สะสมมาแต่อ้อนแต่ออก กว่าที่เราจะได้พระสัทธรรมต้องใช้ความเพียรสะสมอบรมตนด้วย "วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ" บุคคลจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร

ทุกข์ คำว่า ทุกข์ คือสภาพธรรมที่บีบคั้น เบียดเบียน มีความลำบากกาย มีความคับแค้นใจ ตลอดจนถึงการพลัดพรากจากสิ่งที่ตนรัก เป็นเหตุแห่งความทุกข์ ความเพียรสูงสุด คือเพียรชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์หลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายให้มีสติสัมปชัญญะที่มั่นคงสมบูรณ์ เพื่อการมีจิตใจที่ไม่มีกิเลส คือสงบเป็นพุทธะ

No comments yet...

Leave your comment

19766

Character Limit 400