#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##เหนือการรับและปฏิเสธ
##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, อยู่ในหมวดที่ ๗, ว่าด้วยคำสอนอันเหมาะแก่อุปนิสัยฯ, หน้า ๑๐๐; จะนำมาเขียนสัก ๔ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""ท่านเหล่านี้ ย่อมอยู่เหนือ "การรับ" และ "การปฏิเสธ"" ท่านเว่ยหล่างได้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่ประจักษ์แจ้งอยู่กับจิตเดิมแท้ หรือความว่าง (สุญญตา) นั้น ท่านอยู่เหนือการรับและการปฏิเสธ; คำว่า การรับและการปฏิเสธ หมายถึง ความยินดี ความยินร้ายนั่นเอง ซึ่งเป็นลักษณะของคติทวินิยม ก็คือ การยึดติดอยู่กับสิ่งที่เป็นคู่ ๆ.
##ประโยคที่ ๒ ""และท่านเหล่านี้ ทำลายเครื่องกีดขวางทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต"" สิ่งที่เรียกว่า อดีต ปัจจุบัน อนาคต ถ้าเข้าไปยึดถือ ก็จะกลายเป็นสิ่งกีดขวางจิตเดิมแท้; ยึดอดีต คือ ยึดสัญญาขันธ์, ยึดปัจจุบัน คือ ยึดเวทนาขันธ์, ยึดอนาคต คือ ยึดสังขารขันธ์, แต่ผู้ที่เห็นแจ้งอยู่กับจิตเดิมแท้ ท่านทำลายสิ่งกีดขวางเหล่านี้ได้แล้ว.
##ประโยคที่ ๓ ""ท่านเหล่านี้ ย่อมใช้อวัยวะเครื่องทำความรู้สึกของท่าน ในเมื่อมีเรื่องต้องใช้" ที่ว่า อวัยวะเครื่องทำความรู้สึก หมายถึง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หมายความว่า มีสติปัญญาในการเกี่ยวข้องกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์, ทำหน้าที่ไปด้วยจิตใจปรกติ; ตาเห็นรูป ก็สักว่าเห็น, หูได้ยินเสียง ก็สักว่าเสียง ฯลฯ.
##ประโยคที่ ๔ ""แต่ว่า ความรู้สึกยึดถือใน "การใช้" นั้น มิได้เกิดขึ้นเลย"" ในเมื่อมีสติปัญญาในขณะที่ใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกี่ยวข้องกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์, การยึดถือ (อุปาทาน) ก็ไม่เกิดขึ้น, ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสใช้คำว่า "ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง" นั่นเอง. (๕ ม. ค.๖๒)