#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

##จิตเดิมแท้ คือสมาธิชั้นเยี่ยม#!!!

      ##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, อยู่ในหมวดที่ ๗, ว่าด้วยคำสอนอันเหมาะแก่อุปนิสัยฯ, หน้า ๑๐๕- ๑๐๖; จะนำมาเขียนสัก ๖ ประโยค ดังนี้ :-

      ##ประโยคที่ ๑ ""ภิกษุจิหว่างเป็นนักศึกษาผู้หนึ่งในนิกายธยานะ, หลังจากได้สอบถามพระสังฆปริณายกองค์ที่ห้า (เกี่ยวกับการก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมของตน) แล้วก็เข้าใจเอาเองว่าตนได้บรรลุสมาธิ, 

      ดังนั้นท่านผู้นี้จึงเก็บตัวอยู่ในวิหารเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง เป็นเวลาถึงยี่สิบปี และเฝ้าแต่นั่งขัดสมาธิอยู่ตลอดเวลา"" ภิกษุจิหว่างยังไม่เห็นแจ้งต่อจิตเดิมแท้ ซึ่งเป็นสภาวะของสมาธิจริง ๆ เป็นธรรมชาติที่ปราศจากความปรุงแต่ง แต่ภิกษุจิหว่างสำคัญผิดคิดว่าตนบรรลุแล้ว.

      ##ประโยคที่ ๒ ""มีศิษย์ของพระสังฆปริณายกองค์ที่หกผู้หนึ่ง คือภิกษุอันแช็ก จาริกไปทางฝั่งเหนือของแม่น้ำฮวงโห ได้ยินเรื่องราวของท่านผู้นี้ จึงเข้าไปเยี่ยมถึงที่วัดนั้น; ภิกษุอันแช็กได้ถามว่า "ท่านทำอะไรอยู่ที่นี่?" 

      ภิกษุจิหว่างได้ตอบว่า "ข้าพเจ้ากำลังเข้าสมาธิอยู่" จากข้อความนี้ทำให้นึกถึงพุทธภาษิตที่ว่า "ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา" ภิกษุอันแช็กเป็นผู้ที่เห็นแจ้งจิตเดิมแท้แล้ว ดังนั้นเมื่อได้ฟังคำตอบของภิกษุจิหว่าง ก็รู้ได้ทันทีว่า ยังไม่เห็นแจ้งจิตเดิมแท้.

      ##ประโยคที่ ๓ ""ภิกษุอันแช็กกล่าวขึ้นว่า "ท่านว่าท่านกำลังเข้าสมาธิอยู่อย่างนั้นหรือ?" ข้าพเจ้าอยากทราบว่า ท่านทำสมาธิอยู่ด้วยความรู้สึก หรือว่าปราศจากความรู้สึก"" ภิกษุอันแช็กนำหลักคติทวินิยมขึ้นมาตั้งเป็นคำถามว่า....

      "ทำสมาธิอยู่ด้วยความรู้สึก หรือว่าปราศจากความรู้สึก"; สิ่งที่เรียกว่า จิตเดิมแท้ เป็นสภาวะที่ปราศจากสิ่งคู่ด้วยประการทั้งปวง, เป็นอสังขตธรรม คือไม่ปรุงแต่ง เป็นสุดยอดแห่งสมาธิจริง ๆ; ภิกษุอันแช็กกล่าวต่อไปว่า...

      ##ประโยคที่ ๔ ""เพราะว่าถ้าท่านทำสมาธิอยู่โดยไม่มีความรู้สึก มันก็หมายความว่า สิ่งที่ไม่มีชีวิตทั้งปวง เช่น เครื่องกระเบื้อง ก้อนหิน ต้นไม้และผักหญ้าทั้งหลาย ก็ลุถึงสมาธิได้เหมือนกัน;

      หรือไม่อย่างนั้น ถ้าท่านทำสมาธิอยู่โดยมีความรู้สึก, และตัวสัตว์ที่มีชีวิตหรือมนุษย์ก็ตามทั้งหมดนั้น ก็จะพลอยเป็นผู้อยู่ในสมาธิไปด้วยทั้งสิ้น"" ภิกษุอันแช็กได้ชี้ให้เห็นว่า การทำสมาธิทั้งมีความรู้สึกและไม่มีความรู้สึก ล้วนแต่ไม่ถูกต้องทั้งนั้น.

      ##ประโยคที่ ๕ ""ภิกษุจิหว่างได้กล่าวขึ้นว่า "เมื่อข้าพเจ้าอยู่ในสมาธินั้น ข้าพเจ้าไม่รู้สึกเลยว่า มีความรู้สึกหรือไม่มีความรู้สึก"" คำตอบของภิกษุจิหว่างเป็นคำตอบที่ค้านกันเอง; 

      ตอนพบกับภิกษุอันแช็กครั้งแรกบอกว่า "ตนเองกำลังเข้าสมาธิอยู่" ซึ่งบ่งบอกถึงยังติดอยู่ในคติทวินิยม, แต่พอมาตอนนี้ตอบว่า "เมื่อข้าพเจ้าอยู่ในสมาธินั้น ข้าพเจ้าไม่รู้สึกเลยว่า มีความรู้สึกหรือไม่มีความรู้สึก" แสดงว่าภิกษุจิหว่างยังไม่รู้จริง.

      ##ประโยคที่ ๖ ""ภิกษุอันแช็กจึงพูดว่า "ถ้าเอาอย่างที่ท่านว่า มันต้องเป็นความสงบตลอดกาล ซึ่งในภาวะเช่นนั้น ไม่มีทั้งการเข้าอยู่และการออกมา, อาการที่ท่านยังเข้า ๆ ออก ๆ ได้อยู่นั้น ยังไม่ใช่สมาธิชั้นเยี่ยม"" 

      จากการสนทนากันระหว่างภิกษุจิหว่างกับภิกษุอันแช็ก ก็เป็นเหตุให้ภิกษุจิหว่างได้รู้ว่า ตนเองยังเข้าไม่ถึงสมาธิที่แท้จริง เป็นเพียงสมาธิที่ยังต้องเข้า ๆ ออก ๆ; สมาธิชั้นยอดเยี่ยมนั้น ต้องไม่มีการเข้า ไม่มีการออก. (๑๕ มี. ค.๖๒)

No comments yet...

Leave your comment

95486

Character Limit 400