#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

#หยุดการศึกษา เห็นแจ้งจิตหนึ่ง.

      ##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๒๒๕, หน้า ๘๐; จะขอแบ่งออกเป็น ๕ ประโยค ดังนี้ :-

      ##ประโยคที่ ๑ ""ทั้งหมดเท่าที่เธอควรปรารถนานั้น มันมีแต่หยุด "การศึกษา" ของเธอเสีย"" ท่านชี้ให้เห็นว่า เป้าหมายจริง ๆ คือ จิตหนึ่ง, ดังนั้น การที่จะเข้าถึงความเห็นแจ้งต่อจิตหนึ่งได้ ต้องหยุดการศึกษา หยุดการยึดติดอยู่กับความรู้ที่เป็นทฤษฎี เพราะว่า ความรู้เหล่านี้ ถ้าเข้าไปยึดถือแล้ว ก็จะปิดกั้นสัจธรรม กล่าวคือ จิตหนึ่ง มิให้ประจักษ์แจ้งออกมา.

      ##ประโยคที่ ๒ ""เลิกล้างความคิดว่า โง่หรือฉลาด บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ ใหญ่หรือเล็ก เป็นต้น เสียให้สิ้นเชิง"" อันนี้เป็นลักษณะของความคิดที่เป็นคู่ ๆ; ที่ย้ำอยู่บ่อย ๆ ว่า เป็นความคิดแบบคติทวินิยม เช่นที่ท่านยกมาเป็นตัวอย่าง ความโง่ ความฉลาด, ความบริสุทธิ์ ความไม่บริสุทธิ์, ความใหญ่ ความเล็ก ฯลฯ; สภาวะซึ่งว่างจากความคิดที่เป็นคู่ ๆ เหล่านี้ นั่นแหละคือ จิตหนึ่ง.

      ##ประโยคที่ ๓ ""ตัดความยึดมั่นถือมั่นและหยุดการกระทำกรรมเสียอย่างเด็ดขาดเท่านั้น"" สิ่งที่เรียกว่า ความยึดมั่นถือมั่นเป็นเพียงมายาของความคิดปรุงแต่ง; ทั้งผู้ยึด อาการยึด และสิ่งที่ถูกยึด เป็นเพียงการหลอกของความคิดเท่านั้น; คำว่า กรรม คือ การกระทำด้วยอวิชชา, หยุดทำกรรม ก็คือ เปลี่ยนจากการกระทำด้วยอวิชชา ให้มาเป็นการกระทำด้วยสติปัญญา.

      ##ประโยคที่ ๔ ""สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดเป็นเพียงสิ่งที่เพิ่มความลำบากให้มากขึ้น แต่เพื่ออำนวยความสะดวกนิดหน่อยเท่านั้น"" ท่านกล่าวว่า ทั้งหมดที่ยกมาเป็นตัวอย่างนั้น ล้วนแต่เป็นการเพิ่มความลำบากให้มากขึ้นกว่าเดิม, ให้ความสุขน้อย แต่ให้ทุกข์โทษมากกว่า อย่างเช่น ความพอใจดีใจ เป็นสุข แต่ที่จริง สุก กไก่สะกด มากกว่า คือ สุกร้อน สุกไหม้ สุกเกรียม.

      ##ประโยคที่ ๕ ""หรือเป็นเพียงเครื่องประดับประดา (ที่ไม่จำเป็น) ภายในจิตหนึ่งนั้นเท่านั้น"" คำว่า เครื่องประดับประดา หมายถึง สิ่งที่เป็นส่วนเกิน; ธรรมชาติของจิตหนึ่ง เป็นสภาวะที่สมบูรณ์อยู่แล้ว ไม่ต้องเอาอะไรเข้าไปประดับประดาอีก การเอาสิ่งอื่นเข้าไปประดับประดา ก็ยิ่งจะเป็นอุปสรรคกีดขวาง ดังนั้น ท่านจึงสอนให้สลัดทิ้งความยึดติดในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง. (๓๑ มี. ค.๖๒)

No comments yet...

Leave your comment

86075

Character Limit 400