#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

##ตรียาน คือมายา#!!!

      ##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๒๒๖, หน้า ๘๐; จะขอแบ่งออกเป็น ๓ ประโยค ดังนี้ :-

      ##ประโยคที่ ๑ ""อาตมาได้ยินว่า พวกเธอเคยได้ศึกษาสูตรต่าง ๆ แห่งตรียานทั้งสิบสองหมวด"" คำว่า ตรียาน หมายถึง ยานสามชนิด คือ ๑) สาวกยาน เป็นยานระดับต่ำสุด อุปมาเหมือนกับเกวียนที่เทียมด้วยแพะ, ๒) ปัจเจกพุทธยาน เป็นยานระดับกลาง อุปมาเหมือนกับเกวียนที่เทียมด้วยกวาง, และ ๓) โพธิสัตว์ยาน เป็นยานระดับสูง อุปมาเหมือนกับเกวียนที่เทียมด้วยวัว;

      ท่านฮวงโปต้องการจะชี้ให้เห็นว่า ยานทั้งสามดังกล่าว เป็นเพียงมายา ยังไม่ใช่สัจธรรมที่แท้จริง, แต่มียานอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นยานที่แท้และสูงสุด ก็คือ พุทธยาน ท่านเปรียบเหมือนกับเกวียนที่เทียมด้วยวัวขาว; การเห็นแจ้งอยู่กับจิตหนึ่ง ไม่ยึดติดในสิ่งใด ๆ นั่นแหละคือ อยู่บนยานชั้นยอดเยี่ยม, ส่วนยานทั้งสามข้างต้นท่านกล่าวว่า

      ##ประโยคที่ ๒ ""สิ่งเหล่านี้ทั้งหมด เป็นเพียงข้อคิดที่เขาระบายกันออกไปพล่อย ๆ ตามที่เคยประสบ เพราะเคยปากเท่านั้น"" สัจธรรมแท้มีอย่างเดียวเท่านั้น ก็คือ จิตหนึ่ง ซึ่งเปรียบดั่งเกวียนที่เทียมด้วยวัวขาวดังที่ได้กล่าวแล้ว ท่านใช้คำว่า พุทธยาน; 

      ท่านเว่ยหล่าง ซึ่งเป็นพระสังฆปริณายกได้กล่าวไว้ว่า "ผู้ที่อยู่เหนือการรับและการปฏิเสธ ย่อมนั่งอยู่เนืองนิจบนเกวียนวัวขาว กล่าวคือ พุทธยาน" ท่านอธิบายเกี่ยวกับยานทั้งสามไว้อีกว่า "ในข้อนี้ พระสูตรได้แสดงไว้ชัดเจนแล้ว ท่านเองต่างหากที่เข้าใจผิด, เหตุผลที่ว่า ทำไมพระสาวก พระปัจเจกพุทธะ และพระโพธิสัตว์ ไม่เข้าใจในพุทธธรรมได้ ก็เพราะท่านเหล่านั้น เพ่งจ้องต่อพุทธธรรม".

      ##ประโยคที่ ๓ ""พวกเธอจะต้องสลัดออกไปเสียให้หมดจริง ๆ"" ท่านกล่าวในลักษณะว่า ต้องสลัดออกไปให้หมด ชนิดที่ไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่เลย; ธรรมชาติของจิตหนึ่ง เป็นสภาวะที่อยู่เหนือการอุปมา, จิตที่อุปมาได้เป็นเพียงมายาของความคิดปรุงแต่ง 

      ยกตัวอย่าง (จิตที่อุปมาได้) จิตโดยปรกติผ่องใสบริสุทธิ์ เปรียบเหมือนกับพระจันทร์วันเพ็ญ ถ้ามีเมฆดำมาบดบัง แสงสว่างของพระจันทร์ก็จะมืด, หรือถ้ามีเมฆขาวมาปิดบัง แสงสว่างของพระจันทร์ก็สลัวไปเหมือนกัน แต่ถ้าไม่มีทั้งเมฆดำและเมฆขาว, แสงสว่างของพระจันทร์ก็สว่างจ้าลงมา; เสียใจเปรียบด้วยเมฆดำ ดีใจเปรียบด้วยเมฆขาว แต่สิ่งที่เรียกว่า จิตหนึ่งนั้น ไม่มีจิตที่อุปมาเหมือนกับพระจันทร์วันเพ็ญ. (๒ พ. ค.๖๒)

No comments yet...

Leave your comment

34395

Character Limit 400