#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
วันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒
มา ปมาทมนุยุญฺชนฺติ, มา กามรติสนฺถวํ, อปฺปมตฺโต หิ ฌายนฺโต ปปฺโปติ วิปุลํ สุขํฯ ท่านทั้งหลาย จงอย่าได้ประมาท จงอย่าสนิทสนมยินดีในกามอยู่เลย เพราะเมื่อไม่ประมาท มีความเพ่งพินิจอยู่ ย่อมบรรลุถึงความสุขอันไพบูลย์.
คำว่า “ประมาท” ท่านอาจารย์พุทธทาส ได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึงความเป็นผู้มีสติ ไม่เผลอเลอ.
ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธ หากเราลองสำรวจตัวเองตั้งแต่เช้าจนเข้านอน ในช่วงเวลาสิบกว่าชั่วโมงที่เราตื่นอยู่นั้น เรามีสติมากน้อยแค่ไหน วิธีง่ายๆ ที่เราจะตรวจสอบตัวเองคือเราเกิดความคิดปรุงแต่งขึ้นในระหว่างวันมากน้อยอย่างไร เมื่อเราขาดสติ จะคิดจะพูดหรือทำอะไรก็จะมีแต่อำนาจของกิเลสทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา
"จงอย่าได้สนิทสนมยินดีในกามอยู่เลย" กามในที่นี้คือกามในฝ่ายกิเลส มี ๒ ลักษณะ
๑. วัตถุกาม คือ สิ่งที่เข้ามากระตุ้นให้เราเกิดความใคร่น่ายินดี กล่าวคือกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ดังนั้นเราจึงควรระมัดระวังการกระทบเมื่อเวลาที่เราต้องกระทบอย่างไม่ถูกต้อง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นทางมาของกิเลสของตัณหาและความทุกข์ที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้เราจึงควรระมัดระวังเรื่องนี้ให้มาก
๒. กิเลสกาม คือ ความรู้สึกที่เป็นความใคร่ที่เกิดขึ้นในจิตใจ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีสิ่งที่เข้ามากระทบ ตามหลักในพระพุทธศาสนา "จิตเดิมนั้นประภัสสรบริสุทธิ์อยู่ก่อน กิเลสเป็นเพียงอาคันตุกะ เป็นเพียงแขกที่ผ่านเข้ามาชั่วคราว” ถ้าเรามีความเข้าใจนี้เป็นหลักพื้นฐานเราก็จะมีความเข้าใจในพระพุทธศาสนาได้ทั้งหมด
ในเรื่องของกามทั้งหลาย เมื่อเรากระทบด้วยความไม่รู้, ความรู้สึกอยากมี อยากได้ ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ประมาท ล้วนเป็นทางของปัญหาหรือกิเลสทั้งสิ้น
“เมื่อไม่ประมาทมีความเพ่งพินิจอยู่” สามารถแบ่งพิจารณาได้เป็น ๒ ส่วนกล่าวคือ
๑. “การเพ่ง” คือการมีสติอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว เท่ากับเราเตรียมเครื่องมือไว้พร้อมที่จะใช้ในการพินิจพิจารณาความจริง
๒. “การพินิจ” คือการใช้ปัญญาน้อมพิจารณา โดยใช้จิตที่พร้อมแล้วนั้น มาพิจารณาให้เห็นถึงลักษณะที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ ให้เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของสิ่งทั้งปวงอย่างชัดแจ้ง
“ย่อมประสบความสุขอันไพบูลย์” ในที่นี้หมายถึงสภาวะที่พ้นไปจากความสุข ความทุกข์ แต่สงบเย็น คือ พระนิพพาน.