#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

##หลักเกณฑ์ไม่จำเป็น?

      ##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, อยู่ในหมวดที่ ๘, หน้า ๑๑๗- ๑๑๘; จะนำมาเขียนสัก ๔ ประโยค ดังนี้ :-

      ##ประโยคที่ ๑ ""ชีชิงถามต่อไปว่า พวกข้าพเจ้าจะใช้หลักการอะไร สำหรับยกเลิกหลักธรรมทั้งปวง""

      คำว่า หลักธรรมทั้งปวง ในความหมายของชีชิงหมายถึง ธรรมะที่เป็นความรู้จำ รู้คิด รู้ทฤษฎี บางคนจำเก่งคิดเก่ง มีความรู้ในด้านปริยัติกว้างขวาง แต่จิตใจยังเป็นทุกข์ ยังฟุ้งซ่าน เป็นคนเห็นแก่ตัว ดังคำกล่าวที่เคยเขียนไปบ้างแล้วว่า "ความรู้ท่วมหัว แต่เอาตัวไม่รอด" ความรู้ท่วมหัว หมายถึง ความรู้ที่เป็นปริยัติ แต่เอาตัวไม่รอด ก็เพราะขาดความรู้ที่เรียกว่า วิปัสสนา คือ ความเห็นแจ้ง ซึ่งเป็นความรู้ที่สามารถตัดกิเลสได้จริง เป็นความรู้ที่เห็นแจ้งอยู่กับจิตเดิมแท้.

      ##ประโยคที่ ๒ ""พระสังฆปริณายกตอบว่า เมื่อภาวะที่แท้แห่งจิตของเราปราศจากมลทินปราศจากความโง่ และปราศจากความกระวนกระวาย เมื่อเราตรวจตราภายในจิตของเราด้วยปรัชญาอยู่ทุกขณะโดยไม่ว่างเว้น เมื่อเราไม่ยึดติดอยู่กับสิ่งทั้งหลาย และไม่ยึดติดอยู่กับวัตถุที่ปรากฏ เราก็เป็นอิสระและเสรี เราจะวางหลักเกณฑ์ในธรรมไปทำไม""

      จากคำถามของชีชิงในทำนองที่ว่า จะใช้หลักการอะไรในการยกเลิกหลักธรรมที่เป็นปริยัติ ท่านเว่ยหล่างก็ตอบในทำนองว่า ถ้าจิตใจอิสระและเสรีแล้ว จะไปวางหลักเกณฑ์อะไรขึ้นมาทำไมอีก.

      ##ประโยคที่ ๓ ""เมื่อเราอาจบรรลุจุดประสงค์ได้โดยไม่มีปัญหา ไม่ว่าเราจะเหลียวซ้ายหรือแลขวา ทั้งนี้เนื่องจากความพยายามของเราเองที่เราตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้แห่งจิต และเนื่องจากการตระหนักชัดการปฏิบัติธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติพร้อมกันไป ไม่ใช่ค่อยทำค่อยไปทีละขั้น""

      ท่านชี้ให้เห็นอีกว่า การบรรลุถึงความเห็นแจ้งต่อจิตเดิมแท้ เราสามารถเห็นแจ้งได้ในทุกอิริยาบถ ไม่ว่าเราจะเหลียวซ้ายหรือแลขวา เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปสร้างหลักเกณฑ์และการปฏิบัติไปทีละขั้น ๆ ให้เสียเวลา.

      ##ประโยคที่ ๔ ""การวางหลักเกณฑ์ในธรรมจึงไม่จำเป็น เพราะธรรมทั้งหลาย ย่อมมีลักษณะเป็นนิพพานอยู่แล้วในเนื้อหา เราจะสามารถไปกำหนดเป็นขีดขั้นได้อย่างไร ?""

      ในประโยคนี้ท่านก็ยังย้ำว่า "การวางหลักเกณฑ์เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น เพราะธรรมะ กล่าวคือ จิตเดิมแท้ มีลักษณะเป็นนิพพานอยู่แล้วในเนื้อหา" ในตอนท้ายของบทนี้ มีข้อความต่อไปว่า "ชีชิงได้ทำความเคารพและขอฝากตัวเป็นศิษย์ของพระสังฆปริณายก ในหน้าที่นั้น เขาได้ปรนนิบัติท่านทั้งกลางวันและกลางคืน". (๑๔ ต. ค.๖๒)

No comments yet...

Leave your comment

97253

Character Limit 400