#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##ประโยชน์ของอุปมา#!!!
##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๒๔๓, หน้า ๘๕; ขอแบ่งออกเป็น ๒ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""คำอุปมานั้น มุ่งหมายที่จะป้องกันพวกเธอเสียจากการคิดว่า พุทธะและสามัญสัตว์ทั้งหลายนั้น มีตัวมีตนอยู่มากมาย""
ข้อความดังกล่าวนี้ เนื่องมาจากข้อความในตอนที่แล้ว ซึ่งมีประโยคคำถามว่า "ทำไมพระโพธิสัตว์แห่งอนันตภาวะ จึงไม่สามารถมองเห็นเครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์ที่มงกุฎแห่งพระเศียรของพระพุทธเจ้าเล่า ?" ท่านฮวงโปให้คำตอบไว้ว่า "สำหรับท่านไม่มีอะไรเลยที่จะเห็นได้จริง ๆ ทำไม ? เพราะพระโพธิสัตว์แห่งอนันตภาวะนั้น คือ พระตถาคต ทั้งยังแถมอีกว่า ความประสงค์ที่จะดู ย่อมไม่เกิดขึ้นเลย" ที่ว่า "คำอุปมานั้น" ก็คือวลีที่ว่า "เครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์ที่มงกุฎแห่งพระเศียรของพระพุทธเจ้า"; การเข้าไปดูเข้าไปเห็น ก็คือ การเข้าไปยึดติด, ดูสิ่งใด ก็เท่ากับยึดติดในสิ่งนั้น.
##ประโยคที่ ๒ ""แล้วเธอก็ตกลงไปสู่ความหลงผิดแห่งความมีอยู่อย่างแตกต่างกันเป็นพิเศษนั่นเอง""
ความหลงผิดหรือเห็นผิด เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ ก็คือ ความเห็นที่ไม่ตรงต่อหลักความจริงของธรรมชาติ, ความจริงเป็นอยู่อย่างหนึ่ง แต่มีความเห็นไปอีกทิศทางหนึ่ง ดังคำกล่าวที่ว่า "เห็นกงจักร เป็นดอกบัว" คำว่า กงจักร หมายถึง ความคิดปรุงแต่ง เกิดขึ้นเพราะยึดติดอยู่กับสิ่งที่เป็นคู่ ๆ เช่น ดี- ชั่ว, บุญ- บาป, สุข- ทุกข์ เป็นต้น; คำว่า ดอกบัว หมายถึง จิตว่าง (สุญญตา) ซึ่งเป็นสภาวะที่ปราศจากความคิดปรุงแต่ง; สิ่งเป็นคู่ ๆ (คติทวินิยม) ที่ท่านฮวงโปกล่าวถึงในประโยคแรก ก็คือ พุทธะกับสามัญสัตว์ทั้งหลาย คิดว่ามีพุทธะและสามัญสัตว์; เมื่อใดปราศจากความคิดที่เป็นคู่ ๆ ทุกชนิด เมื่อนั้นสิ่งที่เรียกว่า ความว่างก็ประจักษ์แจ้งออกมา. (๑๑ พ. ย.๖๒)