#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##ผู้ถึงความเป็นเช่นนั้น#!!!
##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๒๔๗, หน้า ๘๖; จะขอแบ่งออกเป็น ๒ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""คำว่า "ตถาคต" หมายถึง ตถาตา (คือความเป็นตามที่เป็นจริง ๆ) ของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่ปรากฏให้เราเห็น""
พระพุทธเจ้ามักจะใช้คำว่า ตถาคตในเมื่อพระองค์ตรัสถึงพระองค์เอง เช่น มีพุทธภาษิตว่า "ภิกษุทั้งหลาย! แต่ก่อนก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี ตถาคตบัญญัติสอนเฉพาะเรื่องทุกข์กับความไม่เป็นทุกข์เท่านั้น"
คำว่า ตถาคต แปลว่า ผู้ถึงความเป็นเช่นนั้นเอง, สภาวะแห่งความเป็นเช่นนั้นเอง หมายถึง จิตหนึ่งหรือจิตเดิมแท้; พระพุทธองค์จะไม่ใช้คำว่า "อาตมา" เพราะอาตมา ก็คือ อาตมันหรืออัตตาในความหมายของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู, พระพุทธศาสนาไม่มีอาตมัน, ว่างจากอัตตาตัวตน (อนัตตา).
##ประโยคที่ ๒ ""เพราะฉะนั้น จึงมีคำกล่าวไว้ว่า พระเมตไตรย ก็เป็นเช่นนี้, มุนีและปราชญ์ทั้งหลาย ก็เป็นเช่นนี้""
ถ้ายังไม่เห็นความเป็นเช่นนั้นเอง (ตถาตา) ก็ไม่เรียกว่า พระเมตไตรย ฉะนั้นต้องเห็นความเป็นเช่นนั้นเอง จึงจะเรียกว่า พระเมตไตรย; ถ้ายังไม่เห็นความเป็นเช่นนั้นเอง กล่าวคือ จิตหนึ่งหรือจิตเดิมแท้ ก็ไม่เรียกว่า มุนี แต่ถ้าเห็นแจ้งความเป็นเช่นนั้นเอง นั่นแหละจึงจะเรียกว่า มุนี,
ถ้ายังไม่เข้าถึงตถาตา คือ ความเป็นเช่นนั้นเอง ก็ไม่ชื่อว่า เป็นปราชญ์ ฉะนั้น จะเรียกว่า เป็นปราชญ์ได้ จะต้องเห็นแจ้งความเป็นเช่นนั้นเองเหมือนกัน; ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นพระเมตไตรย เป็นมุนี หรือเป็นปราชญ์ก็ตาม สิ่งที่สำคัญ ก็คือ ต้องเข้าถึงตถาตาเท่านั้น. (๒๓ ธ.ค.๖๒)