#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
#ความเย่อหยิ่ง คืออุปสรรค#
##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, อยู่ในหมวดที่ ๘, หน้า ๑๒๓; จะนำมาเขียนสัก ๖ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""พระสังฆนายกได้กล่าวต่อไปว่า ถ้าท่านมีความหลงผิดและไม่สามารถตระหนักชัดภาวะที่แท้แห่งจิต (จิตเดิมแท้) ได้ ท่านควรจะขอคำแนะนำจากสงายผู้คงแก่เรียนและใจบุญ""
ท่านเว่ยหล่างกำลังสนทนากับชินวุย ซึ่งเป็นผู้มีทิฏฐิมานะสูง ไม่ยอมเปิดใจรับฟังคำสอน เข้าทำนองที่เรียกว่า ชาล้นถ้วย; ชินวุยยังไม่เห็นแจ้งจิตเดิมแท้ แต่ก็พยายามแสดงออกในลักษณะว่า ตนเองก็รู้เหมือนกัน; ท่านเว่ยหล่างได้กล่าวต่อไปว่า...
##ประโยคที่ ๒ ""เมื่อจิตของท่านสว่างไสวแล้ว ท่านย่อมรู้จักภาวะที่แท้แห่งจิต (จิตเดิมแท้) เมื่อนั้นท่านจะเดินอยู่ในทางที่ถูก""
ท่านได้ชี้ว่า ผู้ใดเห็นแจ้งสว่างไสวอยู่กับจิตเดิมแท้ ผู้นั้นชื่อว่า อยู่ในทางแห่งความถูกต้อง หรือที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทานั่นเอง ถ้าไม่เห็นแจ้งจิตเดิมแท้ แสดงว่า ยังไม่พบทาง จะต้องวนเวียนอยู่ในกระแสแห่งความคิดปรุงแต่งเรื่อยไป, ชินวุยยังถูกกระแสแห่งความคิดปรุงแต่งครอบงำจิตใจ; ท่านเว่ยหล่างกล่าวต่อว่า...
##ประโยคที่ ๓ ""ขณะนี้ท่านยังหลงผิด ไม่รู้จักภาวะที่แท้แห่งจิต (จิตเดิมแท้) แต่ท่านยังกล้าถามฉันว่า รู้จักภาวะที่แท้แห่งจิตหรือไม่""
การสนทนากันระหว่างท่านเว่ยหล่างกับชินวุย แทนที่ชินวุยจะอ่อนน้อมถ่อมตน เพื่อรับฟังคำแนะนำสั่งสอนจากท่านเว่ยหล่าง แต่กลับแสดงความอวดดี ทั้ง ๆ ที่ตนเองก็ยังไม่เห็นแจ้งจิตเดิมแท้ เขาจึงไม่ได้รับประโยชน์จากการอยู่ใกล้ชิดกับนักปราชญ์; ท่านเว่ยหล่างกล่าวอีกว่า...
##ประโยคที่ ๔ ""ถ้าฉันรู้ ฉันก็ตระหนักของฉัน และความจริงที่ฉันรู้ก็ไม่อาจช่วยท่านให้พ้นจากความหลงผิดได้""
มีพุทธพจน์อยู่เหมือนกันว่า พระพุทธองค์เป็นเพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น; พระนิพพานเป็นสิ่งที่มีอยู่ ทางให้ถึงพระนิพพานก็มีอยู่ แต่ถ้าเราไม่เดินไปตามทางที่พระองค์ทรงชี้นั้น ก็ไม่มีโอกาสที่จะถึงเป้าหมายได้ ดังนั้นท่านเว่ยหล่างจึงกล่าวกับชินวุยว่า ความรู้ของท่าน (เว่ยหล่าง) ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ ถ้าชินวุยไม่ปฏิบัติด้วยตนเอง; ท่านเว่ยหล่างกล่าวต่อ...
##ประโยคที่ ๕ ""โดยทำนองเดียวกัน ถ้าท่านรู้ ความรู้ของท่านก็ไม่เป็นประโยชน์แก่ฉัน, แทนที่จะถามผู้อื่น ทำไมจึงไม่หาด้วยตนเอง ให้รู้ด้วยตนเองเล่า ?""
ท่านเว่ยหล่างได้ชี้ให้เห็นในทางตรงกันข้ามว่า ถ้าชินวุยมีความรู้แจ้งเห็นแจ้งต่อจิตเดิมแท้ ก็ไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรกับท่านเว่ยหล่าง แต่ก็เป็นประโยชน์กับตัวของชินวุยเอง, ท่านก็ได้เตือนว่า ทำไมไม่ค้นหาให้รู้ด้วยตนเองเล่า?.
##ประโยคที่ ๖ ""ชินวุยได้กราบนมัสการพระสังฆนายกอีกร้อยกว่าครั้ง กล่าวคำแสดงความเสียใจและขออภัยพระสังฆนายก จากนั้นมา ชินวุยกลายเป็นผู้ปรนนิบัติพระสังฆนายกอย่างขยันขันแข็ง""
สุดท้ายชินวุยก็เกิดจิตสำนึก มองเห็นโทษภัยของความเย่อหยิ่งจองหองของตนเอง จึงมีความอ่อนน้อมถ่อมตน เปิดใจพร้อมที่จะรับฟังคำสอนของท่านเว่ยหล่าง. (๒๖ ม. ค.๖๓)