#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

##ถามเพื่อลองภูมิ#!!!

      ##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, อยู่ในหมวดที่ ๘, หน้า ๑๒๔; จะนำมาเขียนสัก ๖ ประโยค ดังนี้ :-

      ##ประโยคที่ ๑ ""เมื่อเห็นว่าบรรดาสานุศิษย์จากสำนักต่าง ๆ พากันมารุมล้อมถามปัญหาอย่างมากมาย ซึ่งล้วนแต่เป็นเจตนาอันไม่สุจริตทั้งนั้น พระสังฆนายกจึงกล่าวแก่พวกนั้นด้วยความสงสารว่า : ผู้เดินทางควรกำจัดความคิดทั้งมวลเสีย ความดีก็เช่นเดียวกับความชั่ว"" 

      คำว่า ผู้เดินทาง หมายถึง ผู้ที่เห็นแจ้งอยู่กับจิตเดิมแท้ ท่านชี้ให้เห็นว่า ความดีกับความชั่วมีลักษณะเหมือนกัน ก็คือ ปรุงแต่ง ดังนั้นต้องขจัดออก ไม่ยึดติดทั้งดีและชั่ว.

      ##ประโยคที่ ๒ ""สิ่งนี้ย่อมเป็นเพียงหนทางที่เรียกกันว่า ภาวะที่แท้แห่งจิต (จิตเดิมแท้) เท่านั้น โดยแท้จริงแล้ว ย่อมไม่อาจเรียกเป็นชื่อใด ๆ ได้""

      ท่านกล่าวว่า จิตเดิมแท้ ซึ่งเป็นหนทางนั้น ย่อมไม่อาจเรียกเป็นชื่อใด ๆ ได้ ผู้ที่เผชิญหน้าประจักษ์แจ้งอยู่กับจิตเดิมแท้ ย่อมไร้คำพูด; คำว่า จิตเดิมแท้ คำว่า พระนิพพาน คำว่า พุทธะ ก็ล้วนแต่เป็นคำบัญญัติสมมุติ สัจธรรมจริง ๆ ไม่มีชื่อ.

      ##ประโยคที่ ๓ ""ธรรมชาติอันไม่เป็นของคู่นี้ คือ ธรรมชาติที่แท้จริง""

      ลักษณะของจิตใจ โดยสรุปแล้วมีอยู่ ๒ อย่าง คือ จิตวุ่นกับจิตว่าง; จิตวุ่น หมายถึง จิตที่ปรุงแต่ง เพราะเข้าไปยึดติดในคติทวินิยม ได้แก่ สิ่งที่เป็นคู่ ๆ เช่น บุญ- บาป, ดี- ชั่ว เป็นต้น, ส่วนจิตว่าง หมายถึง จิตเดิมแท้ ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ปราศจากของคู่ทุกชนิด ว่างจากความคิดปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง.

      ##ประโยคที่ ๔ ""และหลักคำสอนทั้งหลาย ก็อาศัยมูลฐานจากสิ่งนี้""

      ท่านยืนยันว่า หลักคำสอนทั้งหลาย ล้วนแต่อาศัยมูลฐาน คือ จิตเดิมแท้นี่เอง ดังมีพุทธพจน์ที่ว่า "แต่ก่อนก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี ตถาคตสอนเฉพาะเรื่องทุกข์กับความไม่เป็นทุกข์เท่านั้น"; ทุกข์ ก็คือ จิตวุ่น, ไม่ทุกข์ ก็คือ จิตว่าง ซึ่งพระพุทธองค์เปรียบดั่งใบไม้กำมือเดียว ดังนั้นท่านจึงกล่าวว่า จิตเดิมแท้เป็นมูลฐานของคำสอนทั้งหลาย.

      ##ประโยคที่ ๕ ""คนเราควรจะตระหนักถึงภาวะที่แท้แห่งจิต (จิตเดิมแท้) ในทันทีที่เขามาถึง""

      เพราะความสำคัญของจิตเดิมแท้ ซึ่งเป็นสภาวะแห่งความอิสระภาพ เป็นธรรมชาติอันสูงสุดของความเป็นมนุษย์ ท่านเว่ยหล่างจึงกล่าวกับบุคคลที่มาพบท่านว่า "ควรจะตระหนักถึงภาวะที่แท้แห่งจิตในทันทีที่เขามาถึง" ไม่ใช่มาในลักษณะมีอคติ, การมาด้วยเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ เป็นการปิดกั้นตนเองให้สูญเสียประโยชน์เปล่า.

      ##ประโยคที่ ๖ ""เมื่อได้ฟังเช่นนั้น ทุก ๆ คนที่มารุมล้อมถาม ก็ทำความเคารพและขอฝากตัวเป็นสานุศิษย์ของพระสังฆนายก""

      การที่จะรับคำสอนอันลึกซึ้งได้ ความศรัทธาสำคัญ เปิดใจรับฟัง ไม่มีอคติ แต่แน่นอนว่า ความศรัทธาต้องประกอบด้วยปัญญา ไม่ใช่ว่าจะเชื่อทุกอย่าง เมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว ต้องผ่านการวิเคราะห์ใคร่ครวญ (โยนิโสมนสิการ) นี้เป็นหลักที่สำคัญยิ่ง. (๒๖ ก. พ.๖๓) 

No comments yet...

Leave your comment

98371

Character Limit 400