#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

#ปุคลาธิษฐานนำสู่ความเห็นแจ้ง.

##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๒๕๕, หน้า ๘๘; จะขอแบ่งออกเป็น ๓ ประโยค ดังนี้ :-

      ##ประโยคที่ ๑ ""แต่พระมัญชุศรีมีความเข้าใจที่แท้จริง ในเมื่อพระสมันตภัทรมีแต่ความรู้ชั่วแล่น""

      คำว่า พระมัญชุศรีกับพระสมันตภัทร เป็นชื่อของปุคลาธิษฐานแทนความรู้ในแง่มุมต่าง ๆ; พระมัญชุศรี เป็นชื่อของความรู้ที่แท้จริง หมายถึง ความรู้ที่เห็นแจ้งต่อจิตหนึ่ง แต่ยังมีลักษณะแบ่งแยกเป็นสิ่งที่ถูกรู้และผู้รู้; สิ่งที่ถูกรู้ คือ จิตหนึ่ง, ผู้รู้ คือ ปัญญาที่เห็นแจ้งจิตหนึ่ง; พระสมันตภัทร เป็นชื่อของความรู้ชั่วแล่น หมายถึง เป็นความรู้ชั่วขณะแว๊บหนึ่ง แล้วดับไป ยังไม่เป็นความรู้ที่นิรันดร์; เพราะยังไม่สมบูรณ์ของความรู้ทั้งสองอย่างดังกล่าว ท่านจึงเรียกโดยปุคลาธิษฐานว่าเป็นโพธิสัตว์.

      ##ประโยคที่ ๒ ""แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อความเข้าใจอันแท้จริงกับความรู้ชั่วแล่น ได้เข้าผสมกันอย่างเหมาะส่วนเป็นอันเดียวกันแล้ว ก็ปรากฏว่าทั้งสองอย่างนั้น มิได้มีอยู่อีกต่อไป""

      ท่านชี้ให้เห็นว่า เมื่อความรู้ทั้งสอง คือ ความเข้าใจอันแท้จริง ที่เรียกว่า พระมัญชุศรี กับความรู้ชั่วแล่น ที่เรียกว่า พระสมันตภัทร ได้เข้าผสมกันอย่างเหมาะสมกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว จึงเกิดความรู้ที่ลึกซึ้งขึ้นไปอีกว่า ความรู้ทั้งสองดังกล่าว เป็นเพียงเงามายา และสลายหายไป, สิ่งที่เรียกว่า จิตหนึ่ง ก็ถูกเปิดเผยออกมา; สัจธรรมแท้ ไม่แบ่งแยกว่า มีผู้รู้และสิ่งที่ถูกรู้.

      ##ประโยคที่ ๓ ""มีอยู่ก็แต่ จิตหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ทั้งพุทธะและสัตว์ทั้งหลาย ทั้งนี้เพราะว่าในจิตหนึ่งนั้น มิได้มีคติทวินิยมเช่นนั้น""

      สุดท้ายท่านก็ชี้ตรงไปที่ "จิตหนึ่ง" ว่า เป็นสิ่งจริงแท้ เป็นสัจจะที่ปราศจากความปรุงแต่ง (อสังขตธรรม) ด้วยประการทั้งปวง, นอกไปจากจิตหนึ่ง ล้วนแต่เป็นมายาของความคิดปรุงแต่งทั้งสิ้น; สิ่งปรุงแต่งในประโยคนี้ท่านระบุไปยังพุทธะและสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นความคิดปรุงแต่งแบบคติทวินิยมที่ละเอียด; ความคิดว่ามีพุทธะและมีสัตว์ทั้งหลาย จะต้องปลดเปลื้องออกไป จึงจะพบกับสภาวะแห่งจิตหนึ่ง ซึ่งเป็นพุทธะที่แท้จริง. (๓ มี. ค.๖๓) 

No comments yet...

Leave your comment

61007

Character Limit 400