#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##สัจจะเหนือการอุปมา#!!!
##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, อยู่ในหมวดที่ ๙, หน้า ๑๒๖; จะนำมาเขียนสัก ๕ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""ชิตกันกล่าวว่า เมื่อเดินทางกลับพระมหาจักรพรรดิทั้งสอง ต้องให้ข้าพเจ้ากราบทูลรายงานเป็นแน่ พระคุณท่านจะโปรดกรุณาให้คำเตือนที่เป็นหลักสำคัญในการสอนของพระคุณท่านแก่ข้าพเจ้าบ้างได้ไหมครับ?""
ข้อความนี้ยังเนื่องอยู่กับตอนที่แล้ว คือ ชิตกันได้นำพระบรมราชโองการของพระมหาจักรพรรดิมานิมนต์ท่านเว่ยหล่างเข้าไปในเมืองหลวง แต่ได้รับการปฏิเสธ; ชิตกันจึงถามถึงหลักคำสอนที่สำคัญ เพื่อจะได้นำไปกราบทูลรายงาน.
##ประโยคที่ ๒ ""เพื่อข้าพเจ้าจะได้สามารถกราบทูลให้พระมหาจักรพรรดิทรงทราบ และยังจะได้ชี้แจงแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไปในเมืองหลวงอีกด้วย""
ท่านเว่ยหล่างเป็นผู้ที่เห็นแจ้งรู้จริงต่ออมตธรรม กล่าวคือ จิตเดิมแท้ หรือพระนิพพาน ซึ่งเป็นสภาวะที่ปราศจากความปรุงแต่ง (อสังขตธรรม) ด้วยประการทั้งปวง ท่านจึงไม่ยึดติดอยู่กับลาภสักการะ แม้ว่าได้รับเกียรติจากพระมหาจักรพรรดิให้มานิมนต์เข้าไปในพระราชวัง; มาดูคำกล่าวของชิตกันกันต่อ..
##ประโยคที่ ๓ ""เสมือนกับว่าแสงเพลิงจากประทีปดวงหนึ่ง ที่อาจจุดต่อให้แก่ประทีปอื่น ๆ อีกหลายร้อยหลายพันดวง บรรดาคนโง่ทั้งหลาย จะได้เกิดปัญญา และแสงสว่างย่อมก่อให้เกิดแสงสว่างต่อไปโดยไม่สิ้นสุด""
จากข้อความอุปมาอุปไมยของชิตกัน ถ้าปุถุชนธรรมดาได้อ่านหรือฟัง จะมีความเห็นว่า มีความลึกซึ้งและถูกต้อง แต่สำหรับอริยชนผู้เห็นแจ้งต่อสัจธรรมจริง ๆ จะเห็นว่า ยังไม่ถูกต้อง; มาดูคำตอบท่านเว่ยหล่าง...
##ประโยคที่ ๔ ""พระสังฆนายกตอบว่า หลักธรรมนั้น ไม่ได้หมายถึงแสงสว่างหรือความมืด แสงสว่างและความมืดนั้น หมายถึงความคิดที่อาจสับเปลี่ยนกันได้ ฉะนั้นการกล่าวว่า แสงสว่างก่อให้เกิดแสงสว่างต่อไปโดยไม่สิ้นสุด จึงผิด""
หลักธรรมในความหมายของท่านเว่ยหล่าง ก็คือ ความว่าง (สุญญตา) หรือจิตเดิมแท้ ซึ่งเป็นสภาวะที่ไม่มีแสงสว่าง ไม่มีความมืด, สิ่งที่เรียกว่า แสงสว่างและความมืด เป็นเพียงความคิดปรุงแต่งเท่านั้น; ท่านเว่ยหล่างได้อธิบายต่อไปว่า...
##ประโยคที่ ๕ ""เพราะว่า มันมีความจบสิ้น เนื่องจากความสว่างและความมืด เป็นคำคู่ประเภทตรงข้าม; ในวิมลกีรตินิเทศสูตรกล่าวว่า หลักธรรมนั้นไม่มีข้ออุปมา เพราะว่าไม่ใช่เป็นคำที่อาจเทียบเคียงกันได้""
สัจธรรมแท้ จะเรียกว่า ความว่าง ก็ได้, จะเรียกว่า จิตเดิมแท้ ก็ได้, จะเรียกว่า พระนิพพาน ก็ได้ เป็นธรรมชาติที่อยู่เหนือการอุปมา ในพระสูตรจึงบอกว่า "ไม่ใช่เป็นคำที่อาจเทียบเคียงกันได้" ดังนั้น ต้องหุบปากเงียบและนิ่ง. (๑๑ มี. ค.๖๓)