#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

#การมอบพินัยกรรม#

      ##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, อยู่ในหมวดที่ ๑๐, ว่าด้วยคำสอนครั้งสุดท้าย, หน้า ๑๓๑; จะนำมาเขียนสัก ๓ ประโยค ดังนี้ :-

      ##ประโยคที่ ๑ ""วันหนึ่งพระสังฆนายกสั่งให้ตามตัวสานุศิษย์ของท่าน คือ ฟัตห่อย ชีชิง ฟัตตัด ชินวุย ชิงชอง ชิตุง ชิไช ชิต่าว ฟัตจุน ฟัตอู ฯลฯ และกล่าวกับท่านเหล่านี้ว่า "ท่านทั้งหลายผิดกับคนอื่น ๆ ที่เหลือ เมื่อฉันเข้าปรินิพพานไปแล้ว พวกท่านแต่ละคนจะได้เป็นอาจารย์ธยานะคนละเมือง ฉะนั้นฉันจะให้คำเตือนแก่พวกท่านในเรื่องการสั่งสอน เพื่อท่านจะได้รักษาธรรมเนียมแห่งสำนักของเรา""

      ท่านเว่ยหล่างครั้นชราภาพแล้ว ก็ได้เรียกศิษย์ที่มีความรู้ความสามารถจริง ๆ มาประชุมพร้อมกัน เพื่อมอบวิธีการที่สำคัญในการถ่ายทอดธรรมะแบบเซน จะเรียกว่า เป็นปัจฉิมโอวาทก็ได้ เหมือนกับพระพุทธเจ้า ก่อนที่พระองค์จะปรินิพพาน ก็ได้ตรัสในลักษณะเป็นพินัยกรรมถึงความไม่ประมาทไว้ว่า สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด; ท่านเว่ยหล่างก็ได้กล่าวต่อไปว่า..

      ##ประโยคที่ ๒ ""ครั้งแรกจงกล่าวถึงธรรมสามประเภท ต่อไปก็กล่าวถึงสิ่งที่เป็นของคู่ประเภทตรงกันข้าม ๓๖ คู่ อันเป็นอาการไหวตัวของภาวะที่แท้แห่งจิต จากนั้นก็สอนวิธีหลีกเลี่ยงความสุดโต่งทั้งสองข้าง ในการเข้ามาหรือการออกไป การสอนทุกคราวอย่าเบนออกไปจากภาวะที่แท้แห่งจิต""

      ท่านบอกขั้นตอนไว้ว่า ขอยกตัวอย่าง ขั้นตอนแรก จงกล่าวถึงธรรมสามประเภท เช่น: ๑) เสียใจ ๒) ดีใจ และ ๓) จิตกลาง ๆ; ขั้นตอนที่สอง ท่านให้กล่าวถึงสิ่งที่เป็นคู่ตรงข้าม เช่น เสียใจดีใจ ก็ปรุงแต่ง, จิตเป็นกลาง ๆ ก็ปรุงแต่ง คือ ชี้ให้เห็นว่า แม้นจิตกลาง ๆ ก็ไม่ใช่สัจธรรม; และสุดท้ายก็ชี้ให้เห็นว่า สัจธรรมที่แท้จริง กล่าวคือ จิตเดิมแท้นั้น จะประจักษ์แจ้งออกมาได้ ต้องละความปรุงแต่งของเสียใจดีใจ และละความปรุงแต่งของจิตที่เป็นกลาง ๆ ด้วย ดังคำอุปมาที่เคยเขียนไปบ้างแล้วว่า "เมฆกับพระจันทร์ คือ สิ่งเดียวกัน"; ท่านได้กล่าวต่อไปอีกว่า...

      ##ประโยคที่ ๓ ""เมื่อใครถามปัญหา ท่านจงตอบเขาไปในลักษณะคำตรงข้าม เพื่อให้เกิดเป็นคำคู่ประเภทตรงข้าม เช่น การมาและการไป ก็เป็นเหตุเป็นผลต่อกันและกัน เมื่อเพิกถอนการอ้างอิงต่อกันและกันของคำคู่นี้โดยสิ้นเชิงแล้ว ก็จะเหลือเป็นความหมายอันเฉียบขาด คือ ไม่ใช่การมาและไม่ใช่การไป""

      ท่านกล่าวว่า ถ้าใครถามปัญหา ให้ตอบเขาไปในลักษณะตรงกันข้าม เพื่อให้เกิดคำที่เป็นคู่ตรงข้าม ขอยกตัวอย่าง ถ้าเขาพูดว่า มิจฉาทิฏฐิ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์, สัมมาทิฏฐิ เป็นเหตุให้พ้นทุกข์, สุดท้ายก็พูดให้ตรงข้ามขึ้นว่า ถ้าเมื่อใด ไม่มีทั้งมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีทั้งสัมมาทิฏฐิ เมื่อนั้นเรียกว่า มีสัมมาทิฏฐิที่แท้จริง; ความวุ่นคู่กับความว่าง เมื่อใด ไม่มีทั้งความวุ่น ไม่มีทั้งความว่าง นั่นแหละคือ ความว่างอันสูงสุด. (๑๕ เม. ย.๖๓) 

No comments yet...

Leave your comment

17438

Character Limit 400