#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##ไม่มีสุขชั้นเลิศ#!!!
##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๒๖๕, หน้า ๙๒; จะขอแบ่งออกเป็น ๒ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""ไม่มีอะไรเลยสักสิ่งเดียวที่มีอยู่ ดังนั้นฝุ่นสกปรกจะจับได้ที่ตรงไหน?""
ข้อความดังกล่าวนี้ ท่านฮวงโปได้ปรารภถึงโศลกธรรมของท่านเว่ยหล่าง ซึ่งเป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่หกของพุทธศาสนานิกายเซน, ข้อความในประโยคนี้ ท่านอาจารย์พุทธทาสได้แสดงความเห็นไว้ด้วยว่า "โศลกของเว่ยหล่างบทนี้ ประสงค์จะปฏิเสธความคิดที่ว่า ใจเหมือนกระจกเงาที่ต้องเช็ดฝุ่น คือ กิเลสเสมอ ทั้งนี้เพราะความคิดนี้ นำไปสู่คติทวินิยม นอกจากนั้น ยังเป็นการแสดงความมีตัวมีตนอยู่ในธรรมชาติแห่งจิตเดิมแท้ระดับใดระดับหนึ่ง, ฝุ่นกับกระจกเงาเป็นความว่างตัวเดียวกันแท้"
สิ่งที่เรียกว่า จิตเดิมแท้ เป็นสภาวะที่อยู่เหนือการอุปมา อยู่เหนือการบัญญัติด้วยถ้อยคำของมนุษย์, ไม่มีกายที่อุปมาเหมือนกับต้นโพธิ์ ไม่มีใจที่อุปมาเหมือนกับกระจกเงาอันใสสะอาด, สิ่งที่อุปมาได้ เป็นเพียงมายาของความคิดปรุงแต่ง.
##ประโยคที่ ๒ ""ถ้าท่านเข้าใจถึงหัวใจของความจริงเรื่องนี้ ทำไมจะต้องพร่ำถึงความสุขชั้นเลิศด้วยเล่า?""
คำว่า ความสุขชั้นเลิศ ในฝ่ายเถรวาทมีบาลีอยู่บาทหนึ่งว่า นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง แปลว่า สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบ ไม่มี หมายถึง ความสุขสงบเย็น; สิ่งที่เรียกว่า ความสุข มีอยู่สัก ๒ ความหมาย ได้แก่: ๑) ความสุขสนุกสนาน เช่น ดีใจ พอใจ ตื่นเต้น เป็นต้น. ๒) ความสุขสงบเย็น ก็คือ สภาวะที่ไม่ทั้งดีใจ ไม่มีทั้งเสียใจ ที่เรียกว่า ความสุขชั้นเลิศนั่นเอง.
ที่จริงคำว่า ความสุข เป็นลักษณะของความรู้สึก แต่สภาวะแห่งสัจธรรม กล่าวคือ ความว่าง (สุญญตา) หรือจิตเดิมแท้นั้น มิใช่ความรู้สึก ว่างจากความรู้สึก ถามว่า ทำไมจึงมีความรู้สึก ตอบว่า เพราะความเข้าใจผิดว่า มีตัวตน (อัตตา) มีรูป มีนาม มีกาย มีจิต แต่ถ้าไม่มีตัวตน (อนัตตา) ไม่มีรูป ไม่มีนาม ไม่มีกาย ไม่มีจิต สิ่งที่เรียกว่า ความสุขชั้นเลิศก็ไม่มี นั่นแหละคือ ความว่างหรือจิตเดิมแท้. (๓๐ ก. ค.๖๓)