#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

##สุดโต่ง ๓๖ คู่#!!!

      ##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, อยู่ในหมวดที่ ๑๐, หน้า ๑๓๓; จะนำมาเขียนสัก ๔ ประโยค ดังนี้ :-

      ##ประโยคที่ ๑ ""สิ่งที่เป็นของคู่ประเภทตรงข้ามสามสิบหกประการ ได้แก่ วัตถุภายนอกห้าประการ คือ ฟ้าและดิน, อาทิตย์และจันทร์, แสงสว่างและความมืด, ธาตุบวกและธาตุลบ, ไฟฟ้าและน้ำ""

      ในประโยคแรกนี้ ท่านกล่าวถึงของคู่ที่เป็นวัตถุภายนอกห้าคู่ด้วยกัน เช่น ฟ้ากับดิน, ดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ เป็นต้น; คนธรรมดาทั่วไป การมองสิ่งต่าง ๆ ก็มักจะมองในลักษณะเป็นการเปรียบเทียบ มีการแบ่งแยกให้ความแตกต่าง แต่ผู้ที่มีสติปัญญานั้น ท่านเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง ไม่มีความรู้สึกแบ่งแยกให้เป็นฝักฝ่าย เห็นทุกสรรพสิ่งมีความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว.

      ##ประโยคที่ ๒ ""ธรรมลักษณะสิบสองประการ คือ คำพูดและธรรม, การรับและการปฏิเสธ, สาระและไม่เป็นสาระ, รูปและปราศจากรูป, ความแปดเปื้อนและความไม่แปดเปื้อน, ความมีอยู่และความว่างเปล่า, ความเคลื่อนไหวและความสงบนิ่ง, ความบริสุทธิ์และมลทิน, สามัญชนและปราชญ์, พระสงฆ์และฆราวาส, คนแก่และคนหนุ่ม, ความใหญ่และความเล็ก""

      ประโยคที่สองนี้ ท่านชี้ให้เห็นสิ่งคู่ที่เกี่ยวข้องอยู่ในชีวิตโดยตรง ท่านใช้คำว่า ธรรมลักษณะ เช่น คู่แรก "คำพูดและธรรม" ธรรมในที่นี้หมายถึง ธรรมที่เป็นปริยัติ หมายความว่า คำพูดที่ออกมาจากธรรมะจำ ธรรมะคิด.

      ##ประโยคที่ ๓ ""กิจของภาวะที่แท้แห่งจิตสิบเก้าคู่ คือ ยาวและสั้น, ดีและชั่ว, อวิชชาและปัญญา, โง่และฉลาด, กระวนกระวายและสงบนิ่ง, กรุณาและชั่วช้า, ศีลและไม่มีศีล, ตรงและคด, เต็มและว่าง, ชันและระดับ, กิเลสและโพธิ, ถาวรและไม่ถาวร, เมตตาและโหดร้าย, สุขและโกรธ, อ่อนโยนและหยาบช้า, ไปข้างหน้าและถอยหลัง, มีอยู่และไม่มีอยู่, ธรรมกายและกายเนื้อ, สัมโภคกายและนิรมานกาย""

      ในประโยคที่สามเป็นคู่ที่เนื่องอยู่กับจิตเดิมแท้ ท่านใช้คำว่า "กิจของภาวะที่แท้แห่งจิต" จะยกมาสักคู่หนึ่ง เช่นคำว่า "กิเลสกับโพธิ" โพธิที่เป็นคู่กับกิเลส ยังไม่ใช่โพธิแท้ สภาวะที่ปราศจากโพธิที่เป็นคู่กับกิเลส นั่นแหละคือ โพธิที่แท้จริง.

      ##ประโยคที่ ๔ ""ผู้ที่รู้จักวิธีใช้สิ่งทั้ง ๓๖ คู่เหล่านี้ ย่อมตระหนักชัดถึงหลักการที่แผ่ซ่านไปในทุกสิ่ง ซึ่งกล่าวไว้ทั่วไปในพระสูตรทั้งหลาย ไม่ว่าเขาจะเข้ามาหรือออกไป เขาย่อมสามารถหลีกเลี่ยงความสุดโต่งทั้งสองข้างนี้ได้""

      ท่านชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่ประจักษ์แจ้งอยู่กับจิตเดิมแท้ บริบูรณ์อยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ ปราศจากความคิดปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง ไม่ว่าเขาจะอยู่ในสถานที่ใด จิตใจก็อิสระจากคติทวินิยมที่เป็นคู่ ๆ ได้ ซึ่งตรงกันข้ามกับผู้ที่ยังไม่เห็นแจ้งจิตเดิมแท้ เขาต้องจมอยู่ใต้อำนาจของสิ่งที่เป็นคู่ ๆ ทั้ง ๓๖ คู่ ถูกแผ่คลุมอยู่ด้วยความคิดปรุงแต่งอย่างมิรู้สร่าง. (๒ ส. ค.๖๓)

No comments yet...

Leave your comment

36679

Character Limit 400