#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##เห็นอนัตตา คือมัชฌิมา#!!!
##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, อยู่ในหมวดที่ ๑๐, คำสอนครั้งสุดท้าย, หน้า ๑๓๓- ๑๓๔; จะนำมาเขียนสัก ๓ ประโยค ดังนี้:-
##ประโยคที่ ๑ ""ในการปฏิบัติกิจของภาวะที่แท้แห่งจิต (จิตเดิมแท้) และในการสนทนากับผู้อื่นทางภายนอก เราควรเปลื้องตัวเสียจากการยึดติดอยู่กับวัตถุ เมื่อจะต้องเกี่ยวข้องกับวัตถุนั้น ๆ""
ท่านชี้ให้เห็นว่า การทำหน้าที่ของจิตเดิมแท้ เมื่อเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น ๆ ก็ให้เกี่ยวข้องด้วยสติปัญญา โดยที่ไม่เข้าไปยึดติดผูกพัน จิตใจต้องปกติ ไม่เกิดความยินดียินร้ายขึ้นมา หรือแม้จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับพวกวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ก็เช่นกัน, สิ่งภายนอกไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือพวกวัตถุสิ่งของก็ตาม จะต้องไม่ลากจูงให้จิตใจเกิดความขุ่นมัวเศร้าหมอง.
##ประโยคที่ ๒ ""ส่วนภายในตามคำสอนถึงความว่างเปล่า เราควรเปลื้องตนออกจากความคิดที่ว่าขาดสูญ""
ในส่วนของจิตใจนั้น ท่านระบุไปที่มิจฉาทิฏฐิประเภทอุจเฉททิฏฐิ คือความเห็นเรื่องขาดสูญ ซึ่งเป็นความสุดโต่งไปอีกอย่างหนึ่ง เป็นความเห็นที่ตรงกันข้ามกับสัสสตทิฏฐิ; อุจเฉททิฏฐิ มีความเห็นไปในฝ่ายนิรัตตา คือไม่มีอัตตาประเภทขาดสูญ, ส่วนสัสสตทิฏฐิ มีความเห็นไปในฝ่ายอัตตา; พระพุทธศาสนาเป็นสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นที่ถูกต้อง ไม่สุดโต่งไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ก็คือ เห็นความเป็นอนัตตา เห็นแจ้งจิตเดิมแท้ ปราศจากความคิดที่สุดโต่ง.
##ประโยคที่ ๓ ""การเชื่อว่า วัตถุทั้งหลายมีความจริงแท้ หรือเชื่อว่าขาดสูญ ย่อมก่อให้เกิดมิจฉาทิฏฐิอย่างฝังรากลึก หรือพอกพูนอวิชชาให้หนาแน่นยิ่งขึ้น""
ท่านกล่าวว่า การมีความเชื่อว่าวัตถุต่าง ๆ เป็นของจริงแท้ และเชื่อว่า ความขาดสูญเป็นสิ่งถูกต้อง ก็ทำให้มิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิด ยิ่งถูกฝังรากมากขึ้น ๆ ทั้งยิ่งจะเพิ่มพูนอวิชชา คือความไม่รู้ให้หนาแน่นเป็นทวีคูณขึ้นตามลำดับ; ดังนั้น ต้องละความคิดที่สุดโต่งให้หมดสิ้น ด้วยการประจักษ์แจ้งอยู่กับจิตเดิมแท้ ป้องกันไม่ให้ความคิดที่เป็นคู่ ๆ เกิดขึ้นมา นั่นคือ หนทางที่แท้จริง. (๒๕ ต. ค.๖๓)