#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##สัจธรรมมิได้แบ่งแยก.
##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๒๗๑, หน้า ๙๖; จะขอแบ่งออกเป็น ๔ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""ถาม..ถ้าเป็นดังนั้นจริง ธรรมะอะไรกันเล่า ที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ได้ทรงนำมาสอน ในเมื่อพระองค์เสด็จมาปรากฏต่อโลก?""
ข้อความดังกล่าว เนื่องมาจากข้อความในตอนที่แล้ว ซึ่งท่านฮวงโปได้พูดกับศิษย์ว่า "พวกเธอเป็นอันหนึ่งเดียวกันกับพุทธะมาตลอดเวลา ดังนั้นอย่าเที่ยวลวงใคร ๆ ว่า เธอลุถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวนี้ได้ ด้วยการปฏิบัตินานาชนิด""
ท่านชี้ให้เห็นว่า พุทธะมีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน ไม่ต้องปฏิบัติอะไร เพราะว่า การปฏิบัติอย่างนั้น การกระทำอย่างนี้ เป็นการสร้างสิ่งกีดขวางต่อพุทธะ ซึ่งมีอยู่แล้วนั้น ให้เลือนลางหายไป; ทีนี้มาดูคำตอบของท่านฮวงโปกัน.
##ประโยคที่ ๒ ""ตอบ..เมื่อพระพุทธะทั้งหลาย มาปรากฏพระองค์ในโลกนี้ พระองค์ไม่ได้ทรงประกาศอะไรเลย นอกจากจิตหนึ่งนี้เท่านั้น""
จากคำถามของศิษย์ ท่านฮวงโปได้อธิบายในลักษณะว่า "การที่พระศาสดาอุบัติขึ้นในโลกนี้ พระองค์ไม่ได้สอนอะไรเลย นอกจากจิตหนึ่ง" คำว่า "พุทธะ" กับคำว่า "จิตหนึ่ง" คือ สิ่งเดียวกัน ซึ่งท่านยืนยันว่า เป็นสภาวะที่มีอยู่แล้ว.
ฉะนั้น ธรรมชาติของพุทธะหรือจิตหนึ่ง ที่คนทั่วไปมองไม่เห็น ก็เพราะไปสร้างสิ่งกีดขวางเสียเอง ต้องปฏิบัติอย่างนั้น ต้องกระทำอย่างนี้ สุดท้ายก็ตายเปล่า โดยที่ไม่ได้เห็นแจ้งต่อพุทธะ ไม่ได้ประจักษ์ชัดต่อสุญญตา.
##ประโยคที่ ๓ ""ดังนั้น พระพุทธะโคตมะ จึงได้ถ่ายทอดธรรมให้แก่พระมหากาศยปะอย่างเงียบกริบว่า จิตหนึ่ง ซึ่งเป็นเนื้อหาอันแท้จริงของสิ่งทุกสิ่งนั้น เป็นสิ่งที่แผ่กว้างควบคู่เป็นเนื้อเดียวกันไปกับความว่าง และบรรจุเต็มอยู่ทั่วในทุกสิ่งที่ปรากฏอยู่ในโลก""
ตามประวัติของพุทธศาสนานิกายเซน ผู้ที่รับธรรมะแบบ "จิตถึงจิต" จากพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระบรมศาสดานั้น ก็คือ พระมหากาศยปะหรือพระมหากัสสปะ ถ้าเริ่มนับจากอินเดีย นิกายเซนได้จัดให้เป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่หนึ่ง แต่ถ้าเริ่มนับที่ประเทศจีน พระโพธิธรรมเป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่หนึ่ง.
##ประโยคที่ ๔ ""นี้แหละคือ สิ่งที่เรียกว่า บทบัญญัติของพระพุทธเจ้าทั้งปวง""
ท่านกล่าวว่า "จิตหนึ่ง ซึ่งเป็นเนื้อหาอันแท้จริงของสิ่งทุกสิ่ง เป็นสิ่งที่แผ่กว้างควบคู่เป็นเนื้อเดียวกันกับความว่าง และบรรจุเต็มอยู่ทั่วในทุกสิ่งที่ปรากฏอยู่ในโลก"
สัจธรรมที่แท้จริง มิได้แบ่งแยกว่า เป็นภายนอก เป็นภายใน แต่เป็นธรรมชาติที่กลมกลืนกันเป็นหนึ่งเดียว สิ่งที่เรียกว่า ภายนอก ภายใน เป็นเพียงความคิดปรุงแต่งเท่านั้น โดยเฉพาะความคิดว่า มีตัว (อัตตา) เมื่อมีความคิดว่า "มีตัว" หรือ "เป็นตัว" จึงเกิดความคิดที่เรียกว่า "นอกตัว" "ในตัว" ขึ้นมา; สัจธรรมแท้ มิได้แบ่งแยกดังที่ได้กล่าวแล้ว. (๒๔ พ. ย.๖๓)