#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

##จิตเดิมแท้เป็นตถตา.

      ##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, อยู่ในหมวดที่ ๑๐, คำสอนครั้งสุดท้าย, หน้า ๑๓๕- ๑๓๖; จะนำมาเขียนสัก ๓ ประโยค ดังนี้ :-

      ##ประโยคที่ ๑ ""แต่ท่านอบรมอยู่ในภูเขานี้ก็หลายปีแล้ว ท่านได้รับความก้าวหน้าอะไรบ้าง? ขณะนี้ท่านร้องไห้ทำไม? ท่านกังวลต่อฉัน เพราะฉันไม่รู้ว่าฉันจะไปที่ไหนกระนั้นหรือ?""

      เมื่อท่านเว่ยหล่าง ซึ่งเป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่หก ได้กล่าวกับเหล่าศิษย์ว่า ท่านใกล้จะหมดอายุขัยแล้ว มีศิษย์หลายรูปทำใจไม่ได้ ถึงกับร้องห่มร้องไห้ ทั้ง ๆ ที่ศึกษาเซนก็เป็นเวลานาน ฟังธรรมจากท่านเว่ยหล่างก็บ่อยครั้ง แสดงให้เห็นว่า การที่จะบรรลุเซนนั้นไม่ง่าย ดังคำอุปมาที่ว่า ผู้ที่บรรลุถึงความเห็นแจ้งจิตเดิมแท้ เปรียบเหมือนกับเขาโค ส่วนผู้ที่ยังไม่เห็นแจ้งจิตเดิมแท้ เปรียบเหมือนกับขนโค ดังนี้.

      ##ประโยคที่ ๒ ""แต่ฉันรู้ มิฉะนั้นแล้ว ฉันคงบอกท่านล่วงหน้าไม่ได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้น เรื่องที่ทำให้ท่านร้องไห้ ก็คือ ท่านไม่รู้ว่า ฉันจะไปที่ไหน ถ้าท่านร้องไห้เพราะเหตุนั้น ก็ไม่น่าจะร้อง""

      เป็นเทคนิคของท่านเว่ยหล่างในการสอนธรรมะ ไม่ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้านั้นจะเป็นอย่างไร ท่านก็ชักนำให้ผู้ฟังเข้าสู่สัจธรรม กล่าวคือ จิตเดิมแท้เป็นเป้าหมายเสมอ จิตเดิมแท้เป็นสภาวะที่ปราศจากความปรุงแต่ง เป็นธรรมชาติที่อยู่นอกเหตุเหนือผล; คำว่า นอกเหตุ เหนือผล หมายความว่า จิตเดิมแท้ไม่ต้องสำเร็จมาจากเหตุใด ๆ และไม่ได้เป็นผลของอะไร เพราะเป็นสิ่งที่สมบูรณ์อยู่แล้ว.

      ##ประโยคที่ ๓ ""ในสภาพแห่งความเป็นเช่นนั้น โดยเนื้อแท้แล้ว ย่อมไม่มีการมาหรือการไป ไม่มีการเกิดหรือการดับ""

      ที่ท่านกล่าวว่า ในสภาพแห่งความเป็นเช่นนั้น หมายถึง จิตเดิมแท้ ซึ่งเป็นตถตาหรือตถาตา คือ ความเป็นเช่นนั้นเอง เป็นสภาวะที่ไม่มีการมา ไม่มีการไป เพราะคำว่า "การมา การไป" เป็นสัญลักษณ์ของสังขตะ คือ สิ่งที่ปรุงแต่ง ที่จริงถ้าจะพูดให้สมบูรณ์ตามหลักของพระสูตร ต้องใช้คำว่า "ไม่มีการมา ไม่มีการไป ไม่มีการหยุด" ยกตัวอย่าง รถแล่นมา รถแล่นไป รถหยุดแล่น, คนเดินมา คนเดินไป คนหยุดเดิน เป็นต้น; อีกคำหนึ่ง "ไม่มีการเกิด ไม่มีการดับ" การเกิด การดับ ก็เป็นลักษณะของสังขตะเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่าง ความโลภเกิด ความโลภดับ แต่ธรรมชาติของจิตเดิมแท้ เป็นอสังขตะ ดังนั้น จึงไม่มีการเกิด ไม่มีการดับ. (๒๓ ธ. ค.๖๓) 

No comments yet...

Leave your comment

59342

Character Limit 400