#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##จิตว่างแท้ปกคลุมทุกสรรพสิ่ง.
##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๒๘๔, หน้า ๑๐๐; จะขอแบ่งออกเป็น ๓ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""สากลโลกธาตุอันไพศาล ก็ตั้งอยู่แต่ภายในใจของเธอเท่านั้น เมื่อเป็นดังนั้น จะมีที่อื่นที่ไหนอีกเล่า ที่จะหาพบสิ่งต่าง ๆ ที่มีปรากฏการณ์นานาชนิดภายนอกของจิตไม่มีอะไรเลย""
สภาวะของจิตว่าง (สุญญตา) เป็นธรรมชาติที่ไร้ขอบเขตจำกัด ว่างชนิดที่ไม่มีที่สิ้นสุด (อนันตะ) จิตว่างในความหมายนี้ มิใช่นามธรรม แต่เป็นภาวะที่ปราศจากความปรุงแต่งและอิสรภาพเสรีภาพอย่างแท้จริง ธรรมชาติอันนี้แหละ เป็นสภาวะที่ปกคลุมสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไว้ ทุกสรรพสิ่งถูกบรรจุอยู่ในความว่าง (จิตว่าง).
##ประโยคที่ ๒ ""ทิวเขาเขียวเป็นพืดจับสายตาของพวกเธออยู่ทุกทิศทุกทางก็ดี ฟ้าอันเวิ้งว้างซึ่งเธอเห็นสว่างจ้าอยู่เหนือโลกก็ดี ทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรสักเส้นผมเดียว ที่อยู่นอกออกไปจากความคิดที่พวกเธอคิดมันขึ้นมาเอง""
ท่านฮวงโปได้ชี้ให้เห็นว่า คนธรรมดาทั่วไป เมื่อได้เห็นได้สัมผัสกับสิ่งใด ก็มักจะยึดติดเอามาคิดปรุงแต่งฟุ้งซ่าน จึงมองไม่เห็นสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง เพราะถูกความคิดปรุงแต่งบดบังไว้ แต่ถ้าปล่อยวาง ให้จิตว่างชนิดที่ไม่เกาะยึดอยู่กับสิ่งใด ๆ จิตก็อิสรภาพเสรีภาพ.
##ประโคที่ ๓ ""ดังนั้นจึงเป็นอันว่า ภาพและเสียง แต่ละอย่างทุก ๆ อย่าง เป็นเพียงจักษุแห่งปัญญาของพุทธะ""
คำว่า จักษุแห่งปัญญาของพุทธะ ท่านอาจารย์พุทธทาสได้อธิบายไว้ว่า "จักษุแห่งปัญญาของพุทธะ ตามธรรมดาคำนี้ หมายถึง จักษุที่เราใช้เพื่อเข้าใจถึงความเป็นเอกภาวะของสิ่งทุก ๆ สิ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ฮวงโปมิได้กล่าวว่า เห็นแล้วโดยจักษุนั้น แต่ได้กล่าวว่า เป็นจักษุเสียเลย โดยเหตุนั้น เป็นอันว่า หมายถึง ผู้ดูและสิ่งที่ถูกดู"; พุทธะ หมายถึง จิตรู้ จิตตื่น จิตเบิกบาน; จิตว่าง นั่นแหละคือ พุทธะ. (๔ มี. ค.๖๔)