#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

##มรรคแห่งความบริสุทธิ์.

      ##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, หมวดที่ ๑๐, หน้า ๑๓๙; จะนำมาเขียนสัก ๕ ประโยค ดังนี้ :-

      ##ประโยคที่ ๑ ""จากนั้นพระสังฆนายกได้เสริมต่อไปว่า: ธรรมนั้นไม่เป็นของคู่ และจิตก็ฉันนั้น""

      คำว่า "ธรรม" กับคำว่า "จิต" ในความหมายของท่านเว่ยหล่าง คือสิ่งเดียวกัน หมายถึง จิตเดิมแท้ สภาวะของจิตเดิมแท้เป็นธรรมชาติที่ปราศจากของคู่ทุกชนิด เช่น บุญ- บาป, สุข- ทุกข์, ดี- ชั่ว เป็นต้น เป็นสิ่งที่ไม่มีความคิดปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง.

      ##ประโยคที่ ๒ ""มรรคนั้นบริสุทธิ์ และอยู่เหนือรูปทั้งมวล""

      มรรคที่บริสุทธิ์ ก็คือ สติปัญญาที่ประจักษ์แจ้งอยู่กับจิตเดิมแท้ และไม่ปล่อยให้ความยินดี ยินร้ายเกิดขึ้นมา, ยินดี ยินร้าย เป็นสัญลักษณ์ของความสุดโต่ง, ยินดีเป็นความสุดโต่งไปในฝ่ายย่อหย่อน ยินร้ายเป็นความสุดโต่งไปในฝ่ายตึง; รูปในที่นี้ หมายถึง ความคิดปรุงแต่ง ฉะนั้นที่ว่า อยู่เหนือรูป ก็คือ อยู่เหนือความคิดปรุงแต่ง.

      ##ประโยคที่ ๓ ""ฉันขอเตือนท่านอย่าปฏิบัติสมาธิในเรื่องความเงียบสงบ หรืออย่าทำจิตให้ว่างเปล่า""

      คำว่า สมาธิในเรื่องความเงียบสงบ หมายถึง สมาธิที่เกิดจากการข่ม ดังคำกล่าวอุปมาที่ว่า "สมาธิหินทับหญ้า" ถ้าฝึกบ่อย ๆ ก็จะทำให้จิตไม่มีสมรรถนะในการทำหน้าที่; และท่านเตือนว่า อย่าทำจิตให้ว่างเปล่า หมายความว่า อย่าทำจิตให้ว่างชนิดที่ขาดปัญญา จิตว่างที่แท้จริงต้องเปี่ยมอยู่ด้วยปัญญา.

      ##ประโยคที่ ๔ ""จิตนั้นบริสุทธิ์อยู่แล้วโดยธรรมชาติ ดังนั้น จึงไม่มีอะไรที่เราจะต้องไปใฝ่หา หรือยกเลิก""

      คำว่า ใฝ่หา คือ การยอมรับหรือความยินดี คำว่า ยกเลิก หมายถึง การปฏิเสธหรือความยินร้าย ฉะนั้นการใฝ่หากับการยกเลิก ก็คือ ความคิดแบบสุดโต่งในสิ่งที่เป็นคู่ ๆ แต่จิตเดิมแท้เป็นสภาวะที่บริสุทธิ์อยู่แล้วโดยธรรมชาติ ท่านจึงกล่าวว่า ไม่มีอะไรที่ต้องใฝ่หาหรือยกเลิก.

      ประโยคที่ ๕ ""แต่ละท่านจงปฏิบัติให้ดีที่สุด และไปในที่ทุกแห่งตามแต่เหตุการณ์จะนำไป: จากนั้นสานุศิษย์ทั้งหลายต่างกราบนมัสการและเลิกประชุม""

      ท่านเตือนเหล่าศิษย์ว่า จงปฏิบัติให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะไปที่ไหน หรือจะอยู่ ณ ที่ใด ผู้ที่มีสติปัญญาย่อมเผชิญหน้าประจักษ์แจ้งอยู่กับจิตเดิมแท้ในทุก ๆ สถานการณ์ ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสใช้คำว่า "ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง" นั่นเอง. (๑๙ มี. ค.๖๔)

No comments yet...

Leave your comment

93079

Character Limit 400