#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

##การรู้จักพุทธะ#!!!

      ##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, หมวดที่ ๑๐, หน้า ๑๔๓; จะนำมาเขียนสัก ๓ ประโยค ดังนี้ :-

      ##ประโยคที่ ๑ ""เอาละฉันจะบอกให้ท่าน ทราบถึงวิธีที่จะทำตนให้เคยชินกับธรรมชาติของสัตว์ภายในจิตของท่านเอง และโดยวิธีนี้ ท่านจะตระหนักชัดถึงธรรมชาติแห่งพุทธะ ซึ่งแฝงอยู่ในนั้น""

      คำว่า สัตว์ภายในจิต หมายถึง ความคิดปรุงแต่ง; ที่ท่านกล่าวว่า ทำตนให้เคยชินกับธรรมชาติของสัตว์ภายในจิต หมายความว่า ให้มองเห็นโทษภัยของความคิดปรุงแต่งในทุกระดับ, สภาวะที่ปราศจากความคิดปรุงแต่ง นั่นคือ ธรรมชาติแห่งพุทธะ; เคยชิน ก็คือ ชำนิชำนาญในการป้องกัน เพื่อไม่ให้ความคิดปรุงแต่งเกิดขึ้น เมื่อปฏิบัติได้อย่างนี้ ก็ย่อมเห็นแจ้งพุทธะ.

      ##ประโยคที่ ๒ ""การรู้จักพุทธะ ไม่ได้หมายถึงอะไรนอกไปจากรู้จักสัตว์ทั้งหลาย เพราะสัตว์ทั้งหลาย ไม่รู้ว่าตนเป็นพุทธะโดยอานุภาพ""

      ในประโยคนี้ท่านได้ย้ำให้เห็นว่า การรู้จักพุทธะ ก็คือ การรู้จักต่อสัตว์ทั้งหลายในความหมายที่เป็นความคิดปรุงแต่ง; ข้อความที่ว่า "เพราะสัตว์ทั้งหลาย ไม่รู้ว่าตนเป็นพุทธะโดยอานุภาพ" คำว่า สัตว์ในข้อความดังกล่าวนี้ หมายถึง ตัวบุคคลที่ยังเป็นปุถุชนทั่วไป บุคคลที่เป็นปุถุชนนั้น ไม่รู้ว่า พุทธะมีอยู่แล้วที่ใจ เขารู้จักพุทธะเฉพาะที่เป็นองค์พระศาสดา แต่ไม่รู้จักพุทธะที่เป็นสัจธรรม.

      ##ประโยคที่ ๓ ""ส่วนผู้ที่เป็นพุทธะ ย่อมไม่เล็งเห็นความแตกต่างระหว่างท่านเองกับสัตว์ทั้งหลายอื่น เมื่อสัตว์ทั้งหลายตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้แห่งจิต เขาก็เป็นพุทธะ""

      ท่านชี้ให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าที่เป็นพระศาสดา พระองค์มองเห็นด้วยปัญญาญาณว่า ไม่มีความแตกต่างระหว่างพระองค์เองกับสัตว์ทั้งหลาย; พุทธะที่เป็นสัจธรรมมีอยู่แล้วที่จิตใจ แต่ปุถุชนทั่วไปมองไม่เห็น เพราะความคิดปรุงแต่งปิดบังไว้ ส่วนอริยชนผู้มีปัญญาประจักษ์แจ้งต่อพุทธะ เพราะเขาได้เปลื้องความคิดปรุงแต่งออกไปแล้ว. (๑๘ เม.ย.๖๔)

No comments yet...

Leave your comment

24950

Character Limit 400