#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

##พุทธะไม่ล้นไม่พร่อง#!!!

คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๒๙๒, หน้า ๑๐๕; จะขอแบ่งออกเป็น ๓ ประโยค ดังนี้ :-

      ##ประโยคที่ ๑ ""ถาม..ถ้าชาวเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพุทธะ (สิ่งสูงสุด) อยู่ตลอดเวลาแล้ว ซึ่งจะอย่างไรก็ตาม ก็ยังมีสัตว์ที่เกิดในกำเนิดทั้งสี่และอยู่ในภูมิทั้งหก ทำไมแต่ละตน ๆ จึงมีรูปลักษณะเฉพาะ และความปรากฏต่าง ๆ กัน ตามกำเนิดและภูมิของตน ๆ ด้วยเล่า?""

      ที่ศิษย์พูดถึงกำเนิดทั้งสี่ คือ ๑) เกิดจากครรภ์. ๒) เกิดจากไข่. ๓) เกิดจากเถ้าไคล. และ ๔) เกิดความรู้สึกที่เป็นนามธรรม เช่น เกิดดีใจ เสียใจ ฯลฯ; ที่ว่า ภูมิทั้งหก หมายถึง ความรู้สึกต่าง ๆ ในทางจิตใจ เช่น ความโลภ เรียกว่า เปรต, ความโกรธ เรียกว่า นรก, ความหลง เรียกว่า เดรัจฉาน, ความกลัว เรียกว่า อสุรกาย, ราคะ เรียกว่า เทวดา, จิตอยู่ในฌาน เรียกว่า พรหม; ทีนี้ ลองมาดูคำตอบของท่านฮวงโปกัน.

      ##ประโยคที่ ๒ ""ตอบ..ธาตุแท้ซึ่งเป็นเนื้อหาของพุทธะนั้น เป็นสิ่ง ๆ เดียว ซึ่งเต็มเปี่ยมอยู่ทั้งหมด ไม่มีการล้น ไม่มีการพร่อง มันแทรกซึมอยู่ในภูมิแห่งความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหกภูมิ ถึงกระนั้น มันก็ยังเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งเต็มเปี่ยมอยู่เสมอทุกหนทุกแห่ง""

      ท่านใช้คำว่า "ธาตุแท้" แสดงว่า ต้องมีธาตุเทียมด้วย สิ่งที่เรียกว่า ธาตุเทียม ก็คือ ความคิดปรุงแต่ง กิเลสต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาครอบงำจิตใจ; เนื้อหาของพุทธะ คือ ธาตุแท้, ปุถุชนมองไม่เห็นธาตุแท้ เพราะมีธาตุเทียมปิดบังไว้; ท่านบอกว่า ธาตุแท้ กล่าวคือ พุทธะนั้น ไม่มีการล้น ไม่มีการพร่อง เป็นธรรมชาติที่มีความเต็มเปี่ยมอยู่เสมอในทุกหนทุกแห่ง; ท่านได้กล่าวต่อไปว่า...

      ##ประโยคที่ ๓ ""ดังนั้น ปรากฏการณ์อันมากมายนับไม่ถ้วนในสากลจักรวาลนี้ ทุก ๆ อย่าง ล้วนแต่เป็นพุทธะ (สิ่งสูงสุด) นั้นทั้งนั้น""

      ปุถุชนทั่วไปมีความเข้าใจว่า พุทธะอยู่ภายในจิตใจ จะพบพุทธะได้ต้องค้นหาภายใน ต้องมองด้านใน แต่โดยหลักความเป็นจริงแล้ว พุทธะมิได้อยู่ภายใน; ภายนอก ภายใน เป็นลักษณะของความคิดปรุงแต่งประเภทคติทวินิยม พุทธะจะปรากฏแจ่มแจ้งออกมาได้ ต้องไม่มีความคิดว่า มีนอก มีใน, สัจธรรมไม่มีการแบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย ฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า "ดังนั้นปรากฏการณ์อันมากมายนับไม่ถ้วนในสากลจักรวาลนี้ ทุก ๆ อย่าง ล้วนแต่เป็นพุทธะนั้นทั้งนั้น" ดังนี้. (๒๖ เม. ย.๖๔)

No comments yet...

Leave your comment

34420

Character Limit 400