#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##พุทธะเปรียบดั่งปรอท.
##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๒๙๓, หน้า ๑๐๕- ๑๐๖; จะขอแบ่งออกเป็น ๒ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""เนื้อหาแห่งพุทธะนี้ อาจจะเปรียบกันได้กับปรอทจำนวนหนึ่ง ซึ่งเมื่อกระจัดกระจายไปทุกทิศทุกทางแล้ว ย่อมกลับรวมตัวเป็นสิ่งสมบูรณ์สิ่งเดียวได้ในที่ทุกหนทุกแห่ง""
คำว่า พุทธะ หมายถึง ความว่าง (สุญญตา) ซึ่งเป็นสิ่งสูงสุดตามหลักของพุทธศาสนา สิ่งที่เรียกว่า พุทธะกับธรรมะ ก็คือ สภาวะอันเดียวกัน ดังพุทธภาษิตที่เคยนำมาเขียนบ่อย ๆ ว่า "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม" พุทธะเป็นธรรมชาติที่ปราศจากความปรุงแต่ง (อสังขตะ); ที่ท่านเปรียบดั่งปรอทนั้น หมายความว่า บางครั้ง สภาวะของความเป็นพุทธะ ก็อยู่นิ่ง ๆ ว่าง ๆ บางเวลา ถ้าต้องใช้ความคิด ก็มีการเคลื่อนไหว แต่เป็นความคิดที่บริสุทธิ์ เป็นความคิดสร้างสรรค์ เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ.
##ประโยคที่ ๒ ""เมื่อยังไม่กระจัดกระจาย มันเป็นธรรมชาติแห่งของสิ่งเดียว ซึ่งประกอบอยู่ด้วยของทั้งหมด หรือของทั้งหมดซึ่งประกอบกันเป็นของสิ่งเดียว"
สัจธรรม กล่าวคือ พุทธะ ซึ่งเป็นอสังขตธรรม มีหนึ่งเดียว เรียกว่า เอกภาวะ แต่ในความเป็นหนึ่งเดียวนั้น ก็เป็นทั้งหมดของพุทธศาสนา เป็นที่รวมแห่งธรรมะทั้งหลายทั้งปวง จะเรียกว่า "เป็นคลังแห่งธรรม" ก็ได้ เช่น พรหมวิหารสี่ ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หรือหิริ โอตตัปปะ สติ ปัญญา ฯลฯ ก็คือ การแสดงออกของพุทธะนั่นเอง ฉะนั้น จิตว่าง ไม่ใช่ว่างอย่างวัตถุ เช่น โอ่งว่าง ห้องว่าง ซึ่งไม่มีความหมายอะไร แต่จิตว่างนั้น เป็นสภาวะของสัจธรรม เป็นเรื่องของมนุษย์ เป็นที่สุดแห่งทุกข์ในทางจิตใจ. (๑ พ. ค.๖๔)