#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

##การแสวงหาและการทอดทิ้ง.

##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๒๙๕, หน้า ๑๐๖; จะขอแบ่งออกเป็น ๒ ประโยค ดังนี้ :-

      ##ประโยคที่ ๑ ""แต่ปรากฏการณ์ทุก ๆ อย่างนั้น ล้วนแต่เป็นสิ่งที่พวกเธอได้แสวงหา หรือได้ทอดทิ้งโดยเสมอกันด้วยกันทั้งนั้น""

      ข้อความดังกล่าวนี้เนื่องมาจากตอนที่แล้ว ซึ่งท่านฮวงโปได้พูดถึงหลักคำสอนที่ว่า การพัฒนาจิตต้องฝึกไปตามลำดับชั้น ท่านยกตัวอย่างขึ้นมา ๕ ชั้น ได้แก่: ๑) จิตระดับชั้นของความเป็นมนุษย์ เช่น ยึดมั่นอยู่ในศีลห้า. ๒) จิตระดับชั้นสวรรค์ เช่น ยึดมั่นอยู่ในหิริ โอตตัปปะ. ๓) จิตระดับชั้นปัจเจกพุทธะ คือหาความสงบส่วนตัว ไม่สนใจสังคม. ๔) จิตระดับชั้นโพธิสัตว์ คือช่วยเหลือสังคมให้พ้นทุกข์ก่อน ส่วนตนเองค่อยพ้นทุกข์ภายหลัง. และ ๕) จิตระดับชั้นพุทธภาวะ คือตนเองก็พ้นทุกข์ และช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ด้วย, แต่ท่านก็ได้ชี้ให้เห็นว่า การปฏิบัติเป็นลำดับชั้นอย่างนี้ ก็ยังไม่ถูกต้อง.

      ##ประโยคที่ ๒ ""เพราะฉะนั้น จึงเกิดมีผล คือ ความแตกต่างกันในระหว่างสิ่งเหล่านั้น แต่มันจะเป็นไปได้อย่างไร ในข้อที่ว่า ตัวธรรมชาติเดิมอันเป็นเนื้อหาแท้ของสากลจักรวาลนั้น จะตกอยู่ภายใต้อำนาจของการถูกทำให้แตกต่างกันเช่นนั้น?""

      ท่านได้ชี้ให้เห็นว่า การจัดลำดับชั้นของการปฏิบัติ นั่นคือ การสร้างความคิดปรุงแต่งขึ้นมาโดยไม่จำเป็น; ท่านใช้คำว่า "การแสวงหาและการทอดทิ้ง" เช่น การแสวงหาจิตในระดับของความเป็นมนุษย์ก่อน เมื่อเข้าถึงแล้ว ก็ทอดทิ้งภาวะจิตของความเป็นมนุษย์นั้น เพื่อแสวงหาจิตในระดับสวรรค์ ครั้นเข้าถึงแล้ว ก็ทอดทิ้งอีก เพื่อแสวงหาจิตที่ละเอียดยิ่ง ๆ ขึ้นไปตามลำดับ การปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่า ยังตกอยู่ในกระแสแห่งความคิดปรุงแต่ง; คำว่า ธรรมชาติเดิมอันเป็นเนื้อหาแท้ของสากลจักรวาล ก็คือ ความว่าง (สุญญตา) ซึ่งเป็นสภาวะที่ปราศจากความคิดปรุงแต่งโดยสิ้นเชิง ว่างจากความคิดเพื่อการแสวงหาและการทอดทิ้ง. (๒๙ พ. ค.๖๔)

No comments yet...

Leave your comment

82499

Character Limit 400