#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##จิตมารกับจิตพุทธะ.
##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, หมวดที่ ๑๐, หน้า ๑๔๔; จะนำมาเขียนสัก ๒ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""เมื่อธรรมชาติของเราถูกครอบงำด้วยธาตุอันเป็นพิษร้ายสามประการ อันเป็นผลมาจากมิจฉาทิฏฐิ เราก็มีชื่อว่า อยู่ภายใต้อำนาจพญามาร""
ธาตุอันเป็นพิษร้ายสามประการที่ท่านเปรียบเหมือนกับพญามาร หมายถึง ความโลภ ความโกรธ ความหลง ซึ่งมีต้นเหตุมาจากมิจฉาทิฏฐิ มีสุภาษิตอยู่บทหนึ่งว่า "สิ่งที่เริ่มเป็นนิมิตเบื้องต้นแห่งความมืดในเวลากลางคืน คือ การอัสดงของดวงอาทิตย์ ฉันใด สิ่งที่เริ่มเป็นนิมิตเบื้องต้นแห่งอกุศลทั้งหลาย คือ มิจฉาทิฏฐิ ฉันนั้น".
ท่านได้ชี้ให้เห็นว่า เมื่อใดธรรมชาติแห่งจิตเดิมแท้ถูกครอบงำปิดบังอยู่ด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง เมื่อนั้นชื่อว่า จิตใจอยู่ภายใต้อำนาจของพญามาร (กิเลสมาร).
##ประโยคที่ ๒ ""เมื่อสัมมาทิฏฐิได้ขจัดธาตุอันเป็นพิษร้ายเหล่านี้ ไปจากจิตใจของเรา พญามารก็กลายร่างเป็นพุทธะอันแท้จริง""
คำว่า สัมมาทิฏฐิ ก็คือ ความเห็นที่ถูกต้อง เป็นความรู้ที่สามารถตัดกิเลสได้จริง ๆ มีพุทธภาษิตว่า "สิ่งที่เริ่มเป็นนิมิตเบื้องต้นแห่งดวงอาทิตย์เมื่ออุทัย คือ แสงเงินแสงทอง ฉันใด, สิ่งที่เริ่มเป็นนิมิตเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย คือ สัมมาทิฏฐิ ฉันนั้น".
ถ้ามีสัมมาทิฏฐิอย่างเดียว ธรรมะต่าง ๆ ก็จะติดตามมาเอง ดังนั้นท่านจึงกล่าวในทำนองว่า เมื่อมีสัมมาทิฏฐิเข้ามาขจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง ออกไปจากจิตใจได้แล้ว พญามารก็จะกลายร่างเป็นพุทธะอันแท้จริง; จากจิตวุ่น ก็กลายเป็นจิตว่าง, จิตวุ่น คือ พญามาร จิตว่าง คือ พุทธะ. (๒ มิ. ย.๖๔)