#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##เมตตากรุณาอันสูงสุด.
##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๒๙๖, หน้า ๑๐๗; จะขอแบ่งออกเป็น ๓ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""ถาม..ด้วยอาการอย่างไร ที่พุทธะทั้งหลายย่อมประกาศธรรมแก่สรรพสัตว์ เนื่องจากความเมตตาและความกรุณา อันมหาศาลของท่าน?""
ความเมตตาความกรุณาของปุถุชน โดยธรรมชาติมักจะออกมาจากอัตตา คือ ตัวกู ตัวฉัน, ฉันมีความรักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย ฉันมีความกรุณาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น ฉันมีนิสัยช่วยเหลือเกื้อกูลต่อสังคม ยกตัวอย่าง พ่อแม่มีความเมตตาต่อลูกตนเอง มักจะต้องการให้ลูกได้อย่างใจตามที่ตนคาดหวังไว้ พ่อแม่หลายคนมีความเครียดเป็นทุกข์ เพราะลูกดื้อไม่เชื่อฟัง;
พระพุทธเจ้าพระองค์สิ้นกิเลสเป็นพระอรหันต์ ปราศจากอัตตาตัวตนด้วยประการทั้งปวง ฉะนั้น ความเมตตา ความกรุณาของพระองค์ จึงเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ไม่เจือด้วยอุปาทาน; ทีนี้มาดูคำตอบของท่านฮวงโปกัน.
##ประโยคที่ ๒ ""ตอบ..พวกเรากล่าวถึงความเมตตาและความกรุณาของท่านว่า เป็นสิ่งมหาศาล ก็เพราะว่า มันอยู่เหนือกฏแห่งความเป็นเหตุและผล (ดังนั้น มันจึงไม่มีขอบเขตจำกัด)""
คำถามของศิษย์ระบุไปที่ความเมตตาความกรุณาของพระพุทธเจ้าที่เป็นองค์พระศาสดา ซึ่งเป็นบุคคล แต่คำตอบของท่านฮวงโปเน้นไปยังพระพุทธเจ้าที่เป็นพุทธภาวะ ซึ่งเป็นสัจธรรม หมายถึง ความว่าง (สุญญตา) ท่านได้ชี้ให้เห็นว่า ที่พระพุทธเจ้า (พุทธภาวะ) มีความเมตตา ความกรุณาอันมหาศาล ก็เพราะเป็นธรรมชาติที่อยู่เหนือกฏแห่งความเป็นเหตุและผล;
คำว่า เหตุผล เป็นลักษณะของสังขตธรรม ก็คือ สิ่งที่ปรุงแต่ง เกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนในท่ามกลาง และแตกสลายดับไปเป็นที่สุด แต่พุทธภาวะ คือ ความว่างนั้น เป็นอสังขตธรรม หมายถึง สภาวะที่ปราศจากความปรุงแต่ง เรียกว่า เป็นธรรมชาติที่อยู่นอกเหตุเหนือผล.
##ประโยคที่ ๓ ""โดยคำว่า เมตตาโดยแท้จริง หมายความว่า ไม่รู้สึกว่า มีพุทธะที่จะเป็นผู้ตรัสรู้; พร้อมกันนั้น คำว่า กรุณาโดยแท้จริง ย่อมหมายความว่า ไม่รู้สึกว่า มีตัวสัตว์ทั้งหลายที่จะต้องปลดปล่อย""
ข้อความประโยคนี้ ท่านอาจารย์พุทธทาสอธิบายไว้ว่า "พวกอาจารย์ฝ่ายเซน ซึ่งมีใจมุ่งมาดปรารถนาแต่อย่างเดียว ในการที่จะนำศิษย์ให้ขึ้นพ้นจากการถูกลวงด้วยของเป็นคู่ เขาจะสอนให้ละเสียแม้ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเมตตากรุณาเช่นนี้ เพราะมันนำไปสู่ความคิดเห็นเป็นของคู่ ๆ กันตรงกันข้าม; จะปฏิบัติได้ก็เฉพาะผู้ที่สามารถปฏิบัติมิใช่เพื่อทำตัวให้พอใจ เพื่อสวรรค์ หรือเพื่อผลในโลก";
การไม่รู้สึกว่า มีพุทธะที่จะเป็นผู้ตรัสรู้ นั่นแหละคือ การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง, การไม่รู้สึกว่า มีตัวสัตว์ทั้งหลาย ที่จะต้องปลดปล่อย นั่นแหละคือ การปลดปล่อยอันสูงสุด. (๖ มิ. ย.๖๔)