#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##เห็นคุณของจิตเดิมแท้.
##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, หมวดที่ ๑๐, หน้า ๑๔๔- ๑๔๕; จะนำมาเขียนสัก ๓ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""ธรรมกาย สัมโภคกาย และนิรมานกาย กายทั้งสามนี้ ย่อมกำเนิดมาจากสิ่งหนึ่ง คือภาวะที่แท้แห่งจิต ใครที่สามารถตระหนักชัดถึงความจริงข้อนี้ได้ด้วยปัญญาญาณ ย่อมหว่านเมล็ดพืชและจะเก็บเกี่ยวผลถึงการตรัสรู้""
คำว่า ภาวะที่แท้แห่งจิต หมายถึง จิตเดิมแท้; กายทั้งสาม ได้แก่ ธรรมกาย สัมโภคกาย และนิรมานกาย เป็นพฤติของจิตเดิมแท้ จะระบุไปที่สัมมาสังกัปปะก็ได้ ก็คือ ความคิดที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นความคิดที่บริสุทธิ์ และไม่ปรากฏเป็นอัตตา (อนัตตา) ท่านกล่าวว่า ผู้ที่ตระหนักชัดถึงความจริงข้อนี้ เปรียบดั่งได้หว่านเมล็ดพืชและจะเก็บเกี่ยวผลถึงการตรัสรู้ ก็คือ สิ้นกิเลสเป็นอรหันต์.
##ประโยคที่ ๒ ""จากนิรมานกายนี้แหละ ที่ธรรมชาติอันบริสุทธิ์ของเราได้ถือกำเนิด ภายในนิรมานกายนั้นแหละ จะพบธรรมชาติอันบริสุทธิ์ และภายใต้การนำของธรรมชาติอันบริสุทธิ์นั่นเอง นิรมานกายจะดำเนินไปตามมรรคอันถูกต้อง""
คำว่า นิรมานกาย หมายถึง ความคิดที่บริสุทธิ์ (สัมมาสังกัปปะ) เป็นความคิดที่เกี่ยวเนื่องอยู่กับความรู้ในด้านปริยัติ เช่น เรื่องอริยสัจสี่ เป็นต้น ท่านกล่าวว่า จากนิรมานกายนี้แหละ ที่ธรรมชาติอันบริสุทธิ์ของเราได้ถือกำเนิด หมายความว่า เพราะมีความคิดอันบริสุทธิ์ ซึ่งเกี่ยวเนื่องอยู่กับความรู้ที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า เช่น เรื่องอริยสัจ จึงทำให้เข้าใจและเห็นแจ้งจิตเดิมแท้ การประคับประคองความคิดให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ นั่นคือ นิรมานกายที่ดำเนินไปตามมรรคอันถูกต้อง.
##ประโยคที่ ๓ ""ซึ่งวันหนึ่งจะได้บรรลุถึงสัมโภคกายอย่างสมบูรณ์และไพศาล; ธรรมชาติอันบริสุทธิ์ก็ถือกำเนิดมาจากสันดานในทางกามคุณ เมื่อกำจัดความปรารถนาในทางกามคุณเสียได้ เราก็บรรลุธรรมกายอันบริสุทธิ์""
คำว่า สัมโภคกาย หมายถึง ความคิดที่ถูกต้อง (สัมมาสังกัปปะ) ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่กับวัตถุภายนอก เช่น คิดเกี่ยวกับปัจจัยสี่ เป็นต้น; ที่ท่านกล่าวว่า ซึ่งวันหนึ่งจะได้บรรลุถึงสัมโภคกายอันสมบูรณ์และไพศาล หมายความว่า เมื่อดำเนินไปตามมรรคอันถูกต้อง ไม่ปล่อยให้ความคิดปรุงแต่ง (มิจฉาสังกัปปะ) เกิดขึ้นมา ความคิดที่ถูกต้องอันนั้น ก็จะเป็นความคิดที่บริสุทธิ์ถึงระดับอรหันต์; ที่จริง ผู้ที่เห็นแจ้งจิตเดิมแท้ เขามีความทุกข์มาก่อน ครั้นเห็นโทษของความทุกข์และปล่อยวาง สุดท้ายก็เข้าถึงจิตเดิมแท้. (๑๐ มิ. ย.๖๔)