#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

##กัลยาณมิตรที่รู้จริง.

      ##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, หมวดที่ ๑๐, หน้า ๑๔๕; จะนำมาเขียนสัก ๒ ประโยค ดังนี้ :-

      ##ประโยคที่ ๑ ""ใครที่ค้นหาพุทธะด้วยการปฏิบัติตามลัทธิอื่น ย่อมไม่ทราบว่าจะพบพุทธะที่แท้จริงได้ที่ไหน""

      ท่านได้ยืนยันว่า ผู้ที่แสวงหาพุทธะด้วยการปฏิบัติตามคำสอน ซึ่งไม่ใช่แนวของนิกายเซนที่ถูกต้องจริง ๆ นั้น ย่อมไม่ทราบว่า จะพบพุทธะได้อย่างไรหรือที่ไหน เพราะว่า พุทธะมีหนึ่งเดียวเท่านั้น; ที่ได้กล่าวไปแล้วว่า กัลยาณมิตรหรือผู้สอนเป็นสิ่งสำคัญ 

      ถ้าผู้สอนไม่รู้จริง ก็จะชี้บอกไปในทางที่ผิดได้ ผลสุดท้ายแทนที่จะโชคดี ก็กลายเป็นโชคร้าย ยกตัวอย่าง ท่านชินเชา ซึ่งยังเข้าใจผิดว่า รูปนามเป็นอัตตา มาดูโศลกที่เป็นคำสอน "กายของเรา คือ ต้นโพธิ์ ใจของเรา คือ กระจกเงาอันใส เราเช็ดมันโดยระมัดระวังทุก ๆ ชั่วโมง และไม่ยอมให้ฝุ่นละอองจับ" คำสอนอย่างนี้ ถ้าผู้ใดเชื่อและปฏิบัติตาม ก็ยิ่งจะปิดกั้นพุทธะ ดังนั้นกัลยาณมิตรที่รู้จริงจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ดังที่ได้กล่าวแล้ว.

      ##ประโยคที่ ๒ ""ใครที่สามารถตระหนักชัดถึงสัจจะภายในจิตเขาเอง ย่อมเป็นผู้หว่านเมล็ดพืชแห่งพุทธะ""

      คำว่า "พุทธะ" กับ "จิตเดิมแท้" คือ ภาวะอันเดียวกัน ซึ่งเป็นสัจจะหรือความจริง ท่านพูดในทำนองว่า ใครก็ตามที่สามารถเห็นแจ้งชัดต่อความจริง กล่าวคือ จิตเดิมแท้ ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมเป็นผู้หว่านเมล็ดพืชแห่งพุทธะ ผู้ที่เริ่มเห็นแจ้งต่อจิตเดิมแท้ แสดงว่า สภาวะจิตอยู่ในระดับแค่ผู้หว่านเมล็ดพืชแห่งความเป็นพุทธะเท่านั้น จะเรียกว่า โสดาบันก็ได้ 

      แต่ถ้าถึงระดับอรหันต์ ก็ชื่อว่า พุทธภาวะได้เจริญงอกงามถึงที่สุด และผลิดอกออกผลอย่างสมบูรณ์ ผู้ที่ยังไม่เห็นแจ้งจิตเดิมแท้ เรียกว่า ปุถุชน ส่วนผู้ที่เห็นแจ้งจิตเดิมแท้แล้ว เรียกว่า อริยชน; เบื้องต้น โสดาบัน, ละเอียดขึ้นไป สกทาคามี, ลึกซึ้งขึ้นไปอีก อนาคามี, ถึงที่สุด ก็คือ อรหันต์. (๒๗ มิ.ย.๖๔)

No comments yet...

Leave your comment

72819

Character Limit 400