#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##จิตเพิกเฉย#!!
##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, หมวดที่ ๑๐, หน้า ๑๔๖; ในบทนี้เป็นบทสุดท้าย จะแบ่งออกเป็น ๕ ประโยคดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""แล้วพระสังฆนายกก็กล่าวโศลกต่อไปว่า ด้วยความเยือกเย็นและไม่กระวนกระวาย บุคคลชั้นเลิศไม่ต้องปฏิบัติความดี""
บุคคลชั้นเลิศ หมายถึง ผู้ที่เห็นแจ้งอยู่กับจิตเดิมแท้ ถ้าระดับสูงสุด ก็คือ พระอรหันต์ ท่านกล่าวว่า บุคคลชั้นเลิศไม่ต้องปฏิบัติความดี หมายความว่า ความดีของพระอรหันต์นั้น เป็นความดีโดยธรรมชาติ ไม่ใช่ความดีที่เสแสร้งหรือแกล้งทำ.
##ประโยคที่ ๒ ""ด้วยความเที่ยงธรรมและเป็นตัวของตัวเอง ท่านไม่ต้องกระทำบาป""
ผู้ที่เห็นแจ้งอยู่กับจิตเดิมแท้ ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ปราศจากการยึดติดในสิ่งที่เป็นคู่ ๆ ทุกชนิด ท่านมีความเที่ยงธรรม ไม่มีความลำเอียงกับผู้ใด และไม่ต้องให้ใครมากำหนดชี้นำ บุคคลประเภทนี้ ท่านไม่ทำบาปทำชั่ว ดังพุทธพจน์ว่า แม้จะต้องสูญเสียทรัพย์ หรือกระทั่งต้องสูญเสียอวัยวะ หรืออาจจะต้องสูญเสียชีวิต แต่ก็ไม่ยอมทิ้งธรรม.
##ประโยคที่ ๓ ""ด้วยความสงบและสงัด ท่านเพิกเฉยการดูและการฟัง""
คำว่า สงบในที่นี้ มิใช่ความสงบแบบหินทับหญ้า ที่เรียกว่า สมถะ แต่เป็นความสงบของจิตเดิมแท้; คำว่า สงัดก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ความเงียบสงัดของสิ่งแวดล้อมภายนอก แต่เป็นความสงัดของจิตเดิมแท้ คือ สงัดจากความคิดปรุงแต่ง สงัดจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวง ผู้ที่มีจิตใจสงบและสงัด จะไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ในขณะที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง มีจิตใจเพิกเฉยและปกติ.
##ประโยคที่ ๔ ""ด้วยความเสมอภาคและเที่ยงตรง จิตของท่านไม่ได้พำนัก ณ ที่ใด""
บุคคลชั้นเลิศ ซึ่งเป็นผู้ที่ประจักษ์แจ้งอยู่กับจิตเดิมแท้ ท่านมีความเสมอภาคกับเพื่อนมนุษย์ทุกคน เป็นผู้บริสุทธิ์เที่ยงตรง ไม่มีอคติด้วยประการทั้งปวง; คำว่า ไม่ได้พำนัก ณ ที่ใด หมายความว่า จิตใจอิสระ ไม่เข้าไปเกาะ ไม่เข้าไปยึด ไม่เข้าไปอิงในสิ่งใด ๆ, ว่าง สุญญตา.
##ประโยคที่ ๕ ""เมื่อจบโศลกแล้ว พระสังฆนายกก็นั่งสงบนิ่ง จนกระทั่งสามยามของคืนนั้น ทันใดนั้น ท่านกล่าวแก่สานุศิษย์อย่างสั้น ๆ ว่า "ฉันจะไปเดี๋ยวนี้" แล้วท่านก็เข้าปรินิพพานไปในขณะนั้น""
โศลกธรรมตั้งแต่ประโยคที่หนึ่งถึงประโยคที่สี่ จะเรียกว่า เป็นปัจฉิมโอวาทของท่านเว่ยหล่างก็ได้ เพราะว่า หลังจากนั้น ท่านไม่ได้กล่าวอะไรอีก นอกจากวลีที่ว่า "ฉันจะไปเดี๋ยวนี้". (๑๙ ก. ค.๖๔)