#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

##จิตใหม่- จิตเดิม#!!!

      ##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๓๐๘, หน้า ๑๑๒; จะขอแบ่งออกเป็น ๕ ประโยค ดังนี้ :-

      ##ประโยคที่ ๑ ""ถาม..ถ้าเป็นดังนั้น คนเราควรทำความเข้าใจในจิตของตนเอง ให้สำเร็จได้อย่างไร ?""

      คำว่า "จิต" โดยย่อมีอยู่สองลักษณะ คือ จิตวุ่นกับจิตว่าง, จิตวุ่น หมายถึง จิตที่ปรุงแต่ง (สังขตะ), จิตว่าง หมายถึง จิตที่ปราศจากความคิดปรุงแต่ง (อสังขตะ); ทีนี้ มาดูคำตอบของท่านฮวงโปกัน.

      ##ประโยคที่ ๒ ""ตอบ..ก็อ้ายสิ่งที่ถามปัญหานี่ออกมานั่นแหละ คือ จิตของเธอเองแล้วละ""

      ท่านต้องการจะบอกว่า จิตหนึ่งหรือจิตเดิมแท้ เป็นธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นภาวะดั้งเดิม ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหนให้เสียเวลา การปล่อยให้เกิดความคิดปรุงแต่งเข้ามาครอบงำปิดบัง ชื่อว่า เป็นความประมาทอันใหญ่หลวง.

      ##ประโยคที่ ๓ ""แต่ถ้าเธอทำความสงบอยู่จริง ๆ และเว้นขาดจากการคิดนึก ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของจิต แม้ที่น้อยที่สุดเสียให้ได้จริง ๆ แล้ว ตัวแท้ของมันก็จะปรากฏออกมาเป็นของว่าง""

      ที่ว่า ตัวแท้ของมันก็จะปรากฏออกมาเป็นของว่าง หมายถึง จิตหนึ่ง, หยุดความคิดปรุงแต่งด้วยสติปัญญา จิตวุ่นก็จะกลายเป็นจิตว่าง.

      ##ประโยคที่ ๔ ""แล้วเธอจะได้พบว่า มันเป็นสิ่งที่ปราศจากรูป มันมิได้กินเนื้อที่อะไร ๆ ในที่ไหนแม้จุดเดียว""

      ความหมายของคำว่า รูป ในที่นี้ มิใช่เฉพาะสิ่งที่เป็นวัตถุภายนอกอย่างเดียว แต่รวมไปถึงความคิดปรุงแต่งที่เกิดขึ้นในใจด้วย ท่านต้องการชี้ให้เห็นว่า สภาวะของจิตหนึ่งนั้น เป็นสิ่งที่ปราศจากความปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง.

      ##ประโยคที่ ๕ ""และมิได้ตกลงสู่การบัญญัติว่า เป็นพวกที่มีความเป็นอยู่ หรือไม่มีความเป็นอยู่ แม้แต่ประการใดเลย""

      คำว่า "มีความเป็นอยู่" กับ "ไม่มีความเป็นอยู่" เป็นลักษณะของความคิดที่เป็นคู่ สิ่งที่เรียกว่า จิตหนึ่ง คือ ว่างจากความคิดที่เป็นคู่ ๆ ทุกชนิด ว่างจากความคิดว่า มีความเป็นอยู่และไม่มีความเป็นอยู่. (๙ ส. ค.๖๔)

No comments yet...

Leave your comment

84491

Character Limit 400