#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##เทคนิคการใช้มีดสองคม.
##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๓๒๔, หน้า ๑๑๕; จะขอแบ่งออกเป็น ๓ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""แม้ว่าความรู้และอุปนิสัยเหล่านั้นจะมีอยู่ เธอก็ยังเป็นที่แน่นอนว่า จะต้องพบตนเองวกกลับมาสู่วงล้อของความเกิดและความตายอยู่ร่ำไป""
คำว่า ความเกิดและความตายในที่นี้ หมายถึง ความเกิด- ดับ ของความคิดปรุงแต่ง ท่านชี้ให้เห็นว่า แม้จะมีความรู้ในด้านปริยัติกว้างขวาง และมีทั้งอุปนิสัยในการพากเพียรปฏิบัติกรรมฐานอย่างจริงจัง แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาสู่วงล้อแห่งความคิดปรุงแต่ง เพราะอะไร? ก็เพราะสิ่งทั้งหมดดังกล่าวอยู่ในกระแสเดียวกัน ก็คือ กระแสแห่งอุปาทาน.
##ประโยคที่ ๒ ""การปล่อยตนให้เดินไปตามทางปฏิบัติเช่นนี้ ย่อมเป็นการแสดงอยู่แล้วโดยปริยายถึงความล้มเหลวของเธอในการที่จะเข้าใจถึงความหมายอันแท้จริงของพระพุทธะแน่นอนทีเดียว""
ที่ว่า ความหมายอันแท้จริงของพระพุทธะ ก็คือ จิตหนึ่งหรือจิตเดิมแท้; ท่านย้ำว่า การปล่อยตนให้เข้าไปหลงเพลินอยู่กับความรู้ที่เป็นปริยัติและยึดติดอยู่กับความพากเพียรที่ผิดทาง ผลที่เกิดตามมา ก็คือ ความล้มเหลว; ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด สิ่งนั้นก็กลายเป็นอุปสรรคต่อจิตหนึ่งหรือจิตเดิมแท้.
##ประโยคที่ ๓ ""การยอมทนทุกข์ทรมานอย่างใหญ่หลวงโดยไม่จำเป็นเช่นนี้ มิใช่อะไรอื่น นอกจากความผิดพลาดอันมหาศาล จริงไหมเล่า?""
ความรู้ที่เป็นปริยัติ ถ้าจะเปรียบกับมีดสองคมก็ได้, มีดสองคม ถ้าใช้ไม่เป็นหรือเกี่ยวข้องด้วยความประมาท อาจจะบาดมือตนเองหรือทำให้ตนเองต้องเดือดร้อน แต่ถ้ารู้จักใช้ เกี่ยวข้องด้วยความไม่ประมาท ก็เป็นประโยชน์มากเหมือนกัน; ส่วนความรู้ที่สำคัญอย่างยิ่ง ก็คือ ความรู้ที่สามารถตัดความคิดปรุงแต่งได้จริง ๆ เป็นความฉลาดที่ประจักษ์แจ้งอยู่กับจิตหนึ่งนั่นเอง. (๖ ต. ค.๖๔)