#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##จิตอิสระอย่างมั่นคง.
##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๓๒๖, หน้า ๑๑๕- ๑๑๖; จะขอแบ่งออกเป็น ๕ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""บัดนี้ หากพวกเธอได้ปฏิบัติในการรักษาจิตของพวกเธอให้ปราศจากพฤติการเคลื่อนไหวใด ๆ อยู่ตลอดเวลา ทั้งเดิน ยืน นั่ง นอนก็ดี""
ที่ท่านกล่าวว่า ปฏิบัติในการรักษาจิต หมายถึง รักษาจิตหนึ่ง การเห็นแจ้งอยู่กับจิตหนึ่ง ไม่ปล่อยให้ความคิดปรุงแต่งเกิดขึ้นมา นั่นแหละเรียกว่า การรักษาจิต มีสติไม่เผลอทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะเดิน ยืน นั่ง หรือนอนก็ตาม.
##ประโคที่ ๒ ""ในการเพ่งจิตทั้งหมด เฉพาะต่อการที่จะไม่สร้างความคิดใด ๆ ขึ้น ต่อความไม่ยึดถือว่ามีของคู่ ต่อความไม่อิงอาศัยสิ่งอื่นใดในภายนอก หรือต่อความไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดก็ดี""
ท่านได้ชี้ถึงแง่มุมต่าง ๆ ในลักษณะว่า การเห็นแจ้งอยู่กับจิตหนึ่ง และไม่สร้างความคิดใด ๆ ขึ้น ไม่ยึดถือในสิ่งที่เป็นคู่ ๆ ไม่อิงอาศัยต่อสิ่งภายนอกทั้งปวง เป็นจิตรู้ จิตตื่น จิตเบิกบาน.
##ประโคที่ ๓ ""ในการปล่อยให้สิ่งทั้งปวงเป็นไปตามเรื่องราวของมันทั้งวัน ๆ ราวกะว่าเธอเจ็บหนักเกินไปกว่าที่จะไปเป็นห่วงด้วยได้ก็ดี""
ท่านแนะนำว่า ให้ปล่อยสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไปตามธรรมชาติ เปรียบเหมือนกับว่า เป็นคนเจ็บหนัก หมดความห่วงใยในสิ่งใด ๆ วันคืนผ่านไปให้ทำหน้าที่ด้วยสติปัญญา โดยที่จิตใจไม่เข้าไปผูกพันกับปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า.
##ประโยคที่ ๔ ""และในการมีจิตของเธอเหมือนหินแท่งทึบที่ไม่มีรอยต้องอุดต้องซ่อมแล้ว""
ธรรมชาติของจิตเดิมแท้หรือจิตหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาวะที่ปราศจากความคิดปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง ท่านเปรียบเหมือนกับหินแท่งทึบที่ไม่มีรอยต้องอุดต้องซ่อม ตรงข้าม ถ้าเป็นจิตที่ยังเกิดความคิดปรุงแต่งอยู่บ่อย ๆ ก็เหมือนกับหินแท่งที่มีรอยแตกรอยร้าวรอยอุด.
##ประโยคที่ ๕ ""เมื่อนั้นแหละธรรมทั้งหลาย จะซึมเข้าไปในความเข้าใจของเธอทะลุปรุโปร่งแล้วปรุโปร่งอีก และชั่วเวลาอีกเล็กน้อย เธอก็จะได้พบว่า ตัวเองเป็นอิสระแล้วอย่างมั่นคง""
ท่านได้ชี้ให้เห็นว่า ถ้าประพฤติปฏิบัติอยู่อย่างไม่ประมาท ด้วยการเห็นแจ้งอยู่กับจิตหนึ่ง ไม่ปล่อยให้ความคิดปรุงแต่งเกิดขึ้นมา สุดท้ายก็จะมีความเข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่งและมีจิตอิสระชนิดที่มั่นคง. (๑๑ ต. ค.๖๔)