#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##กระทำด้วยสติปัญญา.
##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๓๓๐, หน้า ๑๑๗; ขอแบ่งออกเป็น ๒ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""แต่ถ้าเผอิญโพธิสัตว์เหล่านั้นเกิดถอยกำลังในการรักษาจิตของท่านให้อิสระจากความคิดปรุงแต่ง ความยึดมั่นถือมั่นในรูปก็จะลากตัวท่านกลับมาสู่โลกแห่งปรากฏการณ์อีก""
โพธิสัตว์ในความหมายของนิกายเซน หมายถึง ผู้ที่เห็นแจ้งอยู่กับจิตหนึ่ง แต่ยังไม่เสถียรถาวร บางครั้งก็ถูกความคิดปรุงแต่งเกิดครอบงำ ถ้าพูดตามหลักของเถรวาท เรียกว่า อริยบุคคลระดับต้น ๆ เช่น โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ยังไม่ถึงระดับอรหันต์.
ที่ท่านกล่าวว่า ความยึดมั่นถือมั่นในรูป หมายถึง การติดเพลินอยู่กับความคิดปรุงแต่ง รูปในที่นี้ มิใช่รูปที่เป็นอายตนะภายนอก แต่หมายถึง จินตภาพที่เกิดขึ้นกับใจ ท่านได้ชี้ให้เห็นว่า ถ้าผู้ที่เห็นแจ้งอยู่กับจิตหนึ่งเกิดถอยกำลัง ก็ทำให้ความคิดปรุงแต่งเกิดขึ้นครอบงำได้เหมือนกัน.
##ประโยคที่ ๒ ""แล้วรูปเหล่านั้น แต่ละอย่างก็จะสร้างกรรมของมารขึ้นสำหรับท่าน!""
คำว่า กรรม ที่ได้เขียนไปหลายครั้งแล้วว่า หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยกิเลส แต่ถ้าการกระทำประกอบด้วยสติปัญญา ไม่เรียกว่า กรรม แต่เรียกว่า กิริยา เช่น การกระทำของพระอรหันต์ ซึ่งเป็นผู้บริบูรณ์อยู่ด้วยสติปัญญา; ท่านใช้คำว่า "สร้างกรรมของมาร" หมายถึง การสร้างการกระทำที่อยู่ภายใต้อำนาจของกิเลส, มาร ก็คือ กิเลส.
ที่ได้เขียนไปแล้วในประโยคแรกว่า รูปในความหมายของท่านฮวงโป มิใช่รูปที่เป็นอายตนะ แต่หมายถึง จินตภาพที่เกิดขึ้นกับใจ เป็นลักษณะของความคิดปรุงแต่ง ซึ่งมีหลายหลากมากเรื่องราว ดังนั้น จงเปลี่ยนจากการกระทำด้วยกิเลส ให้มาเป็นการกระทำด้วยสติปัญญา แล้วสิ่งที่เรียกว่า กรรม ก็กลายเป็นกิริยา. (๒ พ. ย.๖๔)