#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

##ธรรมชาติแท้เป็นนิรันดร์.

      ##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๓๔๑, หน้า ๑๑๙- ๑๒๐; จะขอแบ่งออกเป็น ๔ ประโยค ดังนี้ :-

      ##ประโยคที่ ๑ ""ธรรมชาติแท้ของเธอนั้น เป็นสิ่งซึ่งมิได้หายไปจากเธอ แม้ในขณะที่เธอกำลังหลงผิดด้วยอวิชชา และมิได้รับกลับคืนมาในขณะที่เธอมีการตรัสรู้""

      คำว่า ธรรมชาติแท้ ก็คือ จิตหนึ่งหรือจิตว่าง (สุญญตา) ท่านได้ชี้ให้เห็นว่า แม้ในขณะที่ถูกอวิชชาครอบงำ จิตหนึ่งก็มิได้หายไปไหน หรือแม้ในขณะที่มีความเห็นแจ้งต่อจิตหนึ่ง ก็ไม่เรียกว่า ได้รับกลับคืนมา เพราะจิตหนึ่งมีอยู่แล้วเป็นนิรันดร.

      ##ประโยคที่ ๒ ""มันเป็นธรรมชาติแห่งภูตตถตา ในธรรมชาตินี้ ไม่มีทั้งอวิชชา ไม่มีทั้งสัมมาทิฏฐิ""

      คำว่า ภูตตถตา แปลว่า ความเป็นเช่นนั้นเอง จิตหนึ่ง คือ ความเป็นเช่นนั้นเอง ธรรมชาติที่ไม่เป็นไปโดยประการอื่น สิ่งที่เรียกว่า อวิชชากับสัมมาทิฏฐิ เป็นลักษณะของคู่ (คติทวินิยม) สภาวะของจิตหนึ่ง ว่างจากความโง่ ว่างจากความฉลาด ธรรมชาติที่ไม่มีทั้งความโง่และความฉลาด นั่นแหละคือ สุดยอดของความฉลาด.

      ##ประโยคที่ ๓ ""มันเต็มอยู่ในความว่างทั่วทุกหนทุกแห่ง และเป็นเนื้อหาอันแท้จริงของจิตหนึ่งนั่นเอง""

      คนส่วนมากเข้าใจกันว่า จิตหนึ่งหรือจิตว่างเป็นนามธรรม ที่จริงจิตว่างมิใช่นามธรรม แต่เป็นสภาวะแห่งความว่างชนิดที่ไร้ขอบเขตจำกัด ว่างอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เรียกว่า อนันตะ ธรรมชาติอันนี้จะแจ่มแจ้งออกมาได้ ต้องมองให้เห็นว่า รูปนามไร้ตัวตน จิตหนึ่ง คือเนื้อหาอันแท้จริง.

      ##ประโยคที่ ๔ ""เมื่อเป็นดังนั้นแล้ว อารมณ์ต่าง ๆ ที่จิตของพวกเธอได้สร้างขึ้น (ทั้งฝ่ายรูปธรรมและนามธรรม) จะเป็นสิ่งที่อยู่ภายนอกของความว่างนั้นได้อย่างไรกันเล่า?""

      นักปฏิบัติส่วนมากมักจะเข้าใจกันว่า จิตหนึ่งอยู่ภายในกาย ดังนั้นเขาจึงเข้าใจว่า อารมณ์ต่าง ๆ อยู่ภายนอก ที่จริง จิตหนึ่ง มิได้อยู่ภายใน คำว่า นอก- ใน เป็นเพียงความคิด ฉะนั้นจิตหนึ่งหรือจิตว่าง คือ ว่างจากความคิดว่า มีนอก ว่างจากความคิดว่า มีใน นั่นคือ สัจธรรมแท้. (๒๑ ม. ค.๖๕)

No comments yet...

Leave your comment

61831

Character Limit 400