#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##ไม่ต้องทำอะไร.
##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๓๔๔, หน้า ๑๒๑; จะขอแบ่งออกเป็น ๖ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""ครั้งแรกทีเดียว ท่านครูบาของพวกเราได้มาจากฟู่เกี่ยน (Fukien) แต่ท่านได้ปฏิญญา (ที่จะอยู่) บนภูเขาฮวงโป ในเขตซึ่งปกครองโดยข้าหลวงประจำเขต ๆ นี้ ตั้งแต่ท่านยังหนุ่มมาก""
ผู้ฝักใฝ่เพื่อความเห็นแจ้งสัจธรรม เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ย่อมยินดีในการใช้ชีวิตอยู่กับป่ากับภูเขา การเริ่มจากความเป็นคนหนุ่ม จะทำสิ่งใดย่อมทำได้ดีกว่า และมีเวลาให้ทำประโยชน์ได้มากกว่า การที่จะเริ่มเมื่ออายุมากแล้ว ดังตัวอย่างของท่านฮวงโปนั่นเอง.
##ประโยคที่ ๒ ""ที่กลางหน้าผากของท่านมีก้อนเล็ก ๆ ก้อนหนึ่งโผล่ขึ้นมามีรูปคล้ายไข่มุก น้ำเสียงของท่านนุ่มนวลและน่าฟัง มรรยาทของท่านเสงี่ยมและสงบ""
เป็นธรรมชาติของผู้ไฝ่ธรรมอยู่แล้ว โดยเฉพาะเป็นผู้ที่เห็นแจ้งต่อจิตหนึ่ง ประจักษ์ชัดอยู่กับจิตเดิมแท้ การพูดการจาก็จะมีความอ่อนหวานนิ่มนวล ไพเราะน่าฟัง มรรยาทก็สงบเสงี่ยมเรียบร้อย ถ้าจิตใจอ่อนโยนไร้อัตตา กาย วาจาข้างนอก ก็พลอยอ่อนโยนไปด้วย.
##ประโยคที่ ๓ ""หลังจากการบวชของท่านไม่กี่ปีนัก ขณะเดินทางไปยังภูเขาเทียนไท้ (Tien Tai) ท่านได้พบกับภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งไม่ช้าก็สนิทสนมกันราวกะว่า เพื่อนรักเก่าแก่ ดังนั้นท่านจึงร่วมเดินทางต่อไปด้วยกันสองรูป""
การที่คนเราคบกันได้และสนิทสนมกันได้เร็ว เพราะมีธาตุตรงกัน หรืออย่างน้อยก็มีธาตุที่คล้ายกัน อุปนิสัยใกล้เคียงกัน ดังนั้นจึงมีคำกล่าวว่า คนเราคบกันด้วยธาตุ คือมีอะไรที่เหมือน ๆ กันนั่นเอง.
##ประโยคที่ ๔ ""เมื่อได้เห็นว่าหนทางนั้น มีกระแสน้ำเชี่ยวที่ไหลมาทางภูเขาขวางหน้าอยู่ ท่านครูบาของเราได้หยุดยืนค้ำกายด้วยไม้เท้านิ่งอยู่ ซึ่ง ณ ที่นั้นเอง เพื่อนของท่านได้ขอร้องให้ท่านเดินทางต่อ""
คำว่า หนทาง หมายถึง ทางสายกลาง คำว่า กระแสน้ำเชี่ยวที่ไหลมาขวางหน้า หมายถึง บุญหรือความดี; ผู้ที่เห็นแจ้งอยู่กับจิตหนึ่ง เรียกว่า กำลังเดินทาง ผู้ที่มีความลึกซึ้งจริง ๆ จะไม่ยึดในบุญ ไม่ติดในความดี จิตจะไม่เข้าไปแตะต้อง.
##ประโยคที่ ๕ ""ท่านครูบาได้ตอบว่า "ไม่ละ ท่านไปก่อนเถอะ" ดังนั้นเพื่อนของท่านจึงลอยหมวกฟางกันฝนใบใหญ่ของเขาลงในกระแสน้ำเชี่ยว และข้ามไปสู่ฟากโน้นได้โดยง่าย""
แม้ว่า เห็นแจ้งต่อจิตหนึ่งแล้ว แต่ถ้าไม่ลึกซึ้งพอ ก็ยังชอบทำบุญ ยังพอใจในการทำดี และพยายามปล่อยวางเพื่อไม่ให้ติดในบุญหรือความดีที่ตนเองทำ ก็เหมือนกับเพื่อนของท่านฮวงโปที่พยายามข้ามกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว เพื่อไปสู่ฝั่งโน้น.
##ประโยคที่ ๖ ""ท่านครูบาได้ถอนใจกล่าวว่า "เรายอมให้คนอย่างนี้ ติดตามเรามาแล้วตลอดทาง! เราควรจะได้ฆ่าเขาเสียก่อนหน้านี้ ด้วยไม้เท้านี้""
ข้อความในประโยคนี้ เป็นภาษาธรรมะ คำว่า ฆ่า หมายถึง ฆ่าอัตตาในจิตใจของเพื่อนท่านนั่นเอง ฆ่าด้วยการแนะนำหรือสอนให้เขาได้ตื่นรู้ขึ้นมา ที่เรียกว่า การถ่ายทอดแบบจิตถึงจิต การที่ภิกษุผู้เป็นเพื่อนไม่ยอมอยู่ด้วยกัน ข้ามกระแสน้ำจากไป แสดงถึง ความเป็นคนตื้อ คือ มีอัตตา. (๘ ก. พ.๖๕)