#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##ไม่มีหยาบไม่มีละเอียด.
##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๓๔๖, หน้า ๑๒๔- ๑๒๕; จะขอแบ่งออกเป็น ๕ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""ครั้งหนึ่งท่านครูบาของเราได้เข้าร่วมในการประชุมแห่งหนึ่ง ที่สำนักงานของข้าหลวงควบคุมเกลือแห่งพระจักรพรรดิ ซึ่งในการประชุมคราวนั้น มีจักรพรรดิไต้- ซุง ในขณะที่สมาทานศีลอย่างสามเณรรวมอยู่ด้วยคนหนึ่ง""
ในยุคของท่านฮวงโป นับว่าเป็นยุคที่พุทธศาสนานิกายเซนกำลังเจริญรุ่งเรืองและแพร่หลาย เพราะว่า เป็นยุคที่สืบเนื่องมาจากท่านเว่ยหล่าง ซึ่งเป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่หก ในช่วงที่จักรพรรดิไต้- ซุง สมาทานศีลอย่างสามเณร น่าจะยังไม่ได้รับตำแหน่งเป็นจักรพรรดิ คงจะอยู่ในวัยเยาว์.
##ประโยคที่ ๒ ""สามเณรได้สังเกตเห็นท่านครูบาของเรา เข้าไปในห้องโถงที่ตั้งเครื่องบูชา และทำการหมอบกราบต่อพระพุทธรูปสามครั้ง เนื่องจากเหตุนั้น สามเณรจึงได้ถามท่านครูบาว่า "ถ้าเราไม่ต้องแสวงหาอะไรจากพุทธะ ธรรมะ หรือสังฆะแล้ว พระคุณเจ้าหมอบกราบสามครั้งเช่นนั้น เพื่อแสวงหาอะไร?""
จากข้อความดังกล่าว แสดงว่า สามเณรได้เคยฟังธรรมจากท่านฮวงโป ซึ่งท่านคงจะพูดถึงการไม่ต้องแสวงหาอะไรจากพุทธะ ธรรมะ สังฆะ ฉะนั้นสามเณรจึงทักท้วงขึ้นมา เมื่อเห็นว่า ท่านฮวงโปยังแสดงความเคารพวัตถุภายนอก.
##ประโยคที่ ๓ ""ท่านครูบาได้ตอบว่า "แม้ว่าเราไม่แสวงหาอะไรจากพระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์ก็ตาม เป็นธรรมเนียมของเรา ที่จะต้องแสดงความเคารพโดยวิธีนี้""
ผู้ที่เห็นแจ้งสัจธรรมจริง ๆ หน้าที่โดยสมมุติในทางสังคมหรือธรรมเนียมบางอย่าง ก็ปฏิบัติไปตามความเหมาะสมที่เห็นว่า เป็นธรรมเนียมซึ่งควรจะรักษาไว้ ผู้มีสติปัญญาอย่างแท้จริงและสูงสุด ย่อมรู้จักเลือกสรรว่า อะไรที่ไม่ควรทำ ควรจะหลีกเลี่ยง หรืออะไรที่ควรทำ ควรรักษาไว้.
##ประโยคที่ ๔ ""แล้วการทำเช่นนั้นมันได้สนองเจตนาอะไรของเราให้สมประสงค์ได้บ้าง?" สามเณรได้ขืนซักต่อไป จนทำให้ถูกตบโดยกระทันหันเข้าครั้งหนึ่ง สามเณรได้ร้องขึ้นว่า "โอ ท่านนี่หยาบจริง!""
การสอนธรรมตามแบบนิกายเซน ก็มีเทคนิคในการสอนหลาย ๆ อย่าง แล้วแต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้านั้นเป็นอยู่อย่างไร ซึ่งมีบริบทหลาย ๆ สิ่งที่แตกต่างกันไป เช่น สามเณรที่ถูกตบ โดยชาติวุฒิเป็นถึงจักรพรรดิ ถ้าไม่บวชเป็นสามเณร ท่านฮวงโปคงไม่ตบ.
##ประโยคที่ ๕ ""ท่านครูบาได้ร้องขึ้นว่า "หยาบชนิดไหนกัน? จงนึกว่า เป็นการทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างละเอียดกับหยาบ ก็แล้วกัน" กล่าวดังนั้นแล้ว ก็ตบสามเณรเข้าอีกฉาดหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สามเณรเองต้องแจวอ้าวไปที่อื่น!""
จุดมุ่งหมายของนิกายเซน ก็เพื่อให้ผู้เรียนรู้ได้หลุดพ้นออกไปจากคติทวินิยม คือ การยึดติดอยู่กับสิ่งที่เป็นคู่ ๆ เช่น บุญ- บาป, สุข- ทุกข์ เป็นต้น แต่สำหรับสามเณร ก็คือ หยาบกับละเอียด จิตหนึ่งเป็นสภาวะที่อยู่เหนือสิ่งคู่ทุกชนิด. (๒๐ ก. พ.๖๕)