#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

##ชนะด้วยการนิ่ง#!!

      ##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๓๔๗, หน้า ๑๒๖- ๑๒๗; จะขอแบ่งออกเป็น ๕ ประโยค ดังนี้ :-

      ##ประโยคที่ ๑ ""ในคราวท่องเที่ยวไปตามที่ต่าง ๆ ท่านครูบาของเราได้ไปเยี่ยมครูบานาน- ฉึ่น (Nan- Chuan) ซึ่งเป็นผู้แก่อาวุโส วันหนึ่ง ในเวลาอาหาร ท่านถือเอาภาชนะอาหารของท่านแล้ว นั่งลงตรงข้ามเก้าอี้อันสูงท่านาน- ฉึ่น เป็นการนั่งคู่กัน""

      เป็นธรรมเนียมของพระภิกษุสงฆ์ ไม่ว่าจะเป็นนิกายไหน กฏระเบียบต้องเคารพพรรษากัน แม้ว่าอายุน้อยกว่า แต่ถ้าเป็นผู้บวชมาก่อน ก็ถือว่าพรรษาของการบวชมากกว่า ผู้ที่บวชภายหลังก็ต้องให้ความเคารพ และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ เป็นการให้เกียรติต่อผู้ที่เห็นแจ้งสัจธรรมจริง ๆ ด้วย.

      ##ประโยคที่ ๒ ""ท่านนาน- ฉึ่น เห็นดังนั้น ก็ได้ก้าวลงมาเพื่อทำการต้อนรับท่านและได้ถามท่านว่า "ท่านที่เคารพ ท่านได้ดำเนินตามทางนี้มาเป็นเวลานานเท่าไรแล้ว?" ตั้งแต่ก่อนศักราชของภิศมาราชามาทีเดียว" ท่านครูบาตอบ""

      ท่านนาน- ฉึ่น ยังไม่เห็นแจ้งจิตหนึ่ง ซึ่งเป็นสัจจะระดับปรมัตถธรรม แต่ก็ได้ตั้งเป็นคำถามเป็นภาษาปรมัตถธรรมกับท่านฮวงโปว่า "ท่านได้ดำเนินตามทางนี้มาเป็นเวลานานเท่าไรแล้ว" ท่านฮวงโปก็ตอบว่า "ตั้งแต่ก่อนศักราชของภิศมาราชา" สัจธรรม กล่าวคือ สภาวะของจิตหนึ่ง เป็นธรรมชาติที่มีมาก่อนประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของมนุษย์.

      ##ประโยคที่ ๓ ""ท่านนาน- ฉึ่น ได้ร้องขึ้นว่า "แน่นะ?" มันก็ดูราวกะว่า ท่านครูบาหม่า มีหลานปู่ที่เข้าทีอยู่ที่นี่คนหนึ่ง ดังนั้นท่านครูบาของเราได้เดินออกไปเสียอย่างเงียบกริบ""

      ท่านนาน- ฉึ่น ยังไม่เห็นแจ้งจิตหนึ่ง จึงแสดงออกในลักษณะของความเป็นอัตตา พยายามโต้แย้งเพื่อเอาชนะ ส่วนท่านฮวงโปเป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริงต่อสัจธรรม จิตใจไร้อัตตาตัวตน ดังนั้นท่านจึงหลีกเลี่ยง ไม่โต้เถียงใด ๆ ด้วยการเดินออกไปเสียอย่างเงียบกริบ ความจริงแท้ไม่ใช่การโต้เถียงกัน ต้องหุบปากเงียบ.

      ##ประโยคที่ ๔ ""ต่อมาสองสามวัน เมื่อท่านครูบาของเรากำลังจะออกเดินทางไป ท่านนาน- ฉึ่นได้ท้วงว่า "ท่านเป็นคนใหญ่โต ทำไมจึงสวมหมวกขนาดน่าหัวเราะเช่นนั้นเล่า?" "อ้อ เพราะมันบรรจุโลกธาตุไว้จำนวนมหึมานั่นเอง" ท่านครูบาตอบ""

      ท่านนาน- ฉึ่น พยายามพูดในลักษณะล้อเล่น เพื่อเหน็บแนมเป็นภาษาคน แต่ท่านฮวงโปได้ตอบเป็นภาษาธรรม; สภาวะของความว่าง(สุญญตา) หรือที่เรียกว่า จิตหนึ่ง เป็นธรรมชาติที่บรรจุไว้ ซึ่งโลกธาตุจำนวนมหึมา จิตหนึ่งมิใช่นามธรรม ดังนั้น จึงว่างชนิดที่ไร้ขอบเขตจำกัด; ท่านนาน- ฉึ่นพูดต่อไปว่า..

      ##ประโยคที่ ๕ ""เอ้า แล้วของผมเล่า เป็นยังไง?" ท่านนาน- ฉึ่นถาม แต่ท่านครูบาของเราได้สวมหมวกและได้เดินออกไปเสียแล้ว""

      ผู้รู้จริงจะหลีกเลี่ยงในการโต้แย้ง เรียกว่า ชนะด้วยการนิ่งเงียบ มีคำกล่าวของผู้รู้อยู่บทหนึ่งว่า "ถึงแม้ปราชญ์จะมีหลักการที่มั่นคง ท่านก็มิได้เที่ยวฟาดฟันผู้อื่น มีความถูกต้องดีงาม แต่ก็มิได้ข่มผู้อื่น มีความชาญฉลาด แต่ก็มิได้ต้อนผู้อื่นให้อับจน" พระพุทธเจ้าตรัสหลักในการใช้คำพูดไว้ ๕ อย่าง ได้แก่ พูดจริง พูดมีประโยชน์ พูดไพเราะอ่อนหวาน พูดถูกกาลเวลา และพูดด้วยความเมตตา. (๓ มี. ค.๖๕)

No comments yet...

Leave your comment

13827

Character Limit 400