#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##ไม่ยอมแพ้ คือแพ้.
##คำสอนท่านฮวงโป, ภาคปกิณณกะ บันทึกวาน- ลิง, ตอนที่ ๓๔๘, หน้า ๑๓๐- ๑๓๑; ขอแบ่งออกเป็น ๔ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""อีกคราวหนึ่ง ท่านครูบาของเรานั่งอยู่ในห้องน้ำชา ท่านนาน- ฉึ่น ได้ลงมาและถามท่านว่า "ข้อที่ว่า ญาณทัศนะอันแจ่มแจ้งต่อพุทธภาวะ ย่อมเป็นผลเกิดมาจากการศึกษาธยานะ และปรัชญานั้น มันหมายความว่าอย่างไรกัน?" ท่านครูบาของเราได้ตอบว่า "มันหมายความว่า ตั้งแต่เช้าจนค่ำ เราต้องไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดเลยแม้แต่สิ่งเดียว""
คำว่า พุทธภาวะ ก็คือ ความว่าง (สุญญตา), ญาณทัศนะอันแจ่มแจ้งต่อพุทธภาวะ หมายถึง มีความรู้ที่เห็นอย่างแจ่มแจ้งต่อความว่างนั่นเอง ผู้มีสติปัญญาตื่นรู้อยู่ตลอดในทุกอิริยาบถ ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ประมาท.
##ประโยคที่ ๒ ""แต่นั่นมิใช่เป็นเพียงการตีความหมายเอาตามความเห็นส่วนตัวของท่านที่เคารพเอง ดอกหรือ!" ท่านนาน- ฉึ่น กล่าว "ข้าพเจ้าจะเป็นคนทะลึ่งอวดดีถึงเพียงนั้น ได้อย่างไรกันหนอ?" ท่านครูบาของเราตอบ""
ผู้ที่ยังไม่เห็นแจ้งต่อสัจธรรม กล่าวคือ จิตหนึ่ง แต่พยายามอธิบายความหมายของจิตหนึ่ง นี้ชื่อว่า เป็นการตีความ ส่วนผู้ที่เห็นแจ้งต่อจิตหนึ่งจริง ๆ แล้ว ไม่ชื่อว่า เป็นการตีความ, ถ้ายังอยู่ในลักษณะของการตีความ แสดงว่า เป็นการคำนวณเอาด้วยเหตุผลของความคิด จะเรียกว่า เป็นปรัชญาแบบ Philosophy ก็ได้.
##ประโยคที่ ๓ ""ดีแล้วท่านที่เคารพ คนเป็นอันมากอาจจะยอมจ่ายเงินสดออกไป เพื่อเป็นค่าน้ำข้าว แต่กับคนพวกไหนนะ ที่ท่านจะขอร้องให้เขาบริจาคอะไร ๆ เพื่อรองเท้าฟางที่ถักเองในครัวเรือนชนิดนั้นสักคู่หนึ่ง?" ตอนนี้ท่านครูบาของเราคงนิ่งเงียบอยู่""
ท่านนาน- ฉึ่น พยายามหาเหตุผลด้วยการอุปมาเพื่อเอาชนะ แต่ท่านฮวงโปกลับใช้ภาษานิ่งและเงียบ, ธรรมะที่นำมาโต้เถียงกันนั้น ไม่ใช่ธรรมะแท้ เป็นเพียงความรู้จำ รู้คิด รู้ทฤษฎี ดังคำกล่าวที่ว่า "คนรู้ธรรมะ ชอบเอาชนะผู้อื่น แต่คนมีธรรมะ ชอบเอาชนะตนเอง" สัจธรรมแท้ไร้ความคิดปรุงแต่ง.
##ประโยคที่ ๔ ""ต่อมา เว่ยชานได้เอ่ยถึงเหตุการณ์ตอนนี้กับยางชาน และถามว่า "การนิ่งของครูบาของเรานั้น หมายถึงการแพ้ได้หรือไม่" "โอ้ ไม่ได้ดอก! คุณก็รู้อยู่แน่ ๆ แล้วนี่ว่า ท่านครูบาฮวงโปนั้น มีความเฉลียวฉลาดอย่างกะเสือ มิใช่หรือ?" ความลึกซึ้งของคุณช่างไม่มีขอบเขตเสียจริง ๆ" เว่ยชานอุทาน""
จากข้อความดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ยางชาน ก็คือ ผู้เห็นแจ้งจิตหนึ่งเช่นเดียวกัน สภาวะแห่งจิตหนึ่ง เป็นธรรมชาติที่ไร้ขอบเขตจำกัด ว่างชนิดที่ไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งที่เรียกว่า จิตหนึ่ง มิใช่นามธรรมตามที่คนทั่วไปเข้าใจกัน. (๑๒ มี. ค.๖๕)