#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

##รู้กาละเทศะ คือรู้จริง.

      ##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๓๔๙, หน้า ๑๓๒; จะขอแบ่งออกเป็น ๒ ประโยค ดังนี้ :-

      ##ประโยคที่ ๑ ""ครั้งหนึ่ง ท่านครูบาของเราได้ขออนุญาตเพื่อออกไปข้างนอกสักครู่ และท่านนาน- ชาน ได้ถามว่า "จะไปไหน?" "ข้าพเจ้าจะออกไปเอาผักสักหน่อยเท่านั้นเอง" ท่านครูบาตอบ""

      สัจจะหรือความจริงนั้น มีอยู่ ๒ อย่าง ได้แก่.. ๑) สมมุติสัจจะ คือ ความจริงโดยสมมุติที่สังคมได้บัญญัติขึ้นมา และ ๒) ปรมัตถสัจจะ คือ ความจริงที่มีความหมายอันลึกซึ้ง หมายถึง การเห็นแจ้งต่อจิตหนึ่งนั่นเอง ผู้ที่รู้แจ้งปรมัตถ์ถึงที่สุด ย่อมปฏิบัติต่อความจริงได้ครบถ้วนทั้ง ๒ อย่าง เรียกว่า เป็นผู้รู้จักกาละเทศะทั้งโดยสมมุติและโดยปรมัตถ์ เช่น ข้อความในประโยคแรกนี้ ท่านฮวงโปใช้ภาษาสมมุติธรรมดาในการสนทนา แต่ท่านนาน- ชาน กลับใช้ภาษาปรมัตถ์ นี้แสดงให้เห็นว่า ท่านนาน- ชาน ยังขาดความสุขุมรอบคอบ.

      ##ประโยคที่ ๒ ""ท่านจะใช้อะไรตัดผักเหล่านั้นเล่า?" ท่านนาน- ชานถาม. ท่านครูบาของเราได้ชูมีดของท่านขึ้น, ทันใดนั้น ท่านนาน- ชานได้ท้วงว่า "อ้าว การทำอย่างนั้นใช้ได้สำหรับแขก แต่ใช้ไม่ได้สำหรับเจ้าของบ้าน" ท่านครูบาของเราได้แสดงความขอบใจด้วยการโค้ง ๓ ครั้ง""

      คำว่า ผักในภาษาธรรม หมายถึง กิเลส เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น. คำว่า มีด หมายถึง ความรู้เพื่อตัดกิเลส แต่เป็นความรู้ในลักษณะของความคิด (รู้คิด) ยังไม่ใช่ความรู้แจ้ง. คำว่า แขก ก็คือ กิเลสหรือความคิดปรุงแต่งในเรื่องต่าง ๆ ทั้งหลายทั้งปวง. คำว่า เจ้าของบ้าน หมายถึง จิตหนึ่งหรือจิตเดิมแท้หรือพระนิพพาน ซึ่งเป็นภาวะดั้งเดิม; สภาวะของจิตหนึ่ง ว่างจากความคิดที่เปรียบเหมือนกับผัก ว่างจากความคิดที่เปรียบเหมือนกับมีด เพราะทั้งสองอย่างนี้ คือ ความคิดปรุงแต่ง ซึ่งเปรียบเหมือนกับแขกที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว; ท่านนาน- ชาน ยังขาดความรอบคอบในส่วนของสมมุติ แต่ในส่วนของปรมัตถ์พูดได้ลึกซึ้งถูกต้อง ท่านฮวงโปจึงให้เกียรติขอบใจด้วยการโค้ง ๓ ครั้ง. (๑๕ มี. ค.๖๕)

No comments yet...

Leave your comment

84196

Character Limit 400