#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

##วาจาเงียบ ใจไม่เงียบ.

      ##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๓๕๐, หน้า ๑๓๓- ๑๓๔; จะขอแบ่งออกเป็น ๔ ประโยค ดังนี้ :-

      ##ประโยคที่ ๑ ""วันหนึ่ง ภิกษุผู้มาใหม่ห้ารูปด้วยกัน ได้ปรากฏตัวต่อหน้าครูบาของเราคราวเดียวกันทั้งหมู่ ภิกษุองค์หนึ่งในบรรดาภิกษุเหล่านั้น แทนที่จะทำความเคารพตามธรรมเนียม กลับยืนเอามือเขียนอากาศเป็นรูปวงกลมอยู่ตรงหน้า""

      ที่จริงสภาวะของจิตหนึ่ง เป็นธรรมชาติที่เขียนเป็นภาพไม่ได้ แม้ว่าจะเขียนเป็นรูปวงกลมในอากาศก็ตาม ภิกษุรูปดังกล่าวยังไม่เห็นแจ้งต่อจิตหนึ่ง ยังยึดติดอยู่กับความคิดปรุงแต่ง ภาวะของจิตว่างที่อุปมาได้ เขียนเป็นภาพได้ เป็นเพียงมายาของความคิดที่ตนเองจินตนาการสร้างขึ้นมา

      บางคนก็อุปมาเหมือนกับพระจันทร์วันเพ็ญบ้าง บางคนก็อุปมาเหมือนกับกระจกเงาอันใสบ้าง ภาวะจิตที่อุปมาได้ในลักษณะดังกล่าว จะเรียกว่า วิปัสสนูปกิเลสก็ได้ หมายถึง กิเลสที่เกิดขึ้นในรูปของวิปัสสนา เป็นความคิดปรุงแต่งในชั้นละเอียดเท่านั้นเอง ส่วนสภาวะของจิตหนึ่งจริง ๆ นั้น อยู่เหนือการอุปมา อยู่เหนือการบัญญัติ ว่างจากความคิดปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง; ท่านฮวงโปได้ถามภิกษุรูปนั้นต่อไปว่า..

      ##ประโยคที่ ๒ ""ท่านทราบไหมว่า ทำอย่างไรจึงจะเป็นสุนัขไล่เนื้อที่ดี?" ท่านครูบาของเราได้กล่าวถามภิกษุรูปนั้น.

      "ข้าพเจ้าต้องติดตามกลิ่นของเลียงผา ซิครับ"

      "ถ้าเลียงผาเป็นสัตว์ที่ไม่มีกลิ่นเล่า เธอจะติดตามอะไร?"

      "ถ้าดังนั้น ผมต้องติดตามรอยกีบของมัน ซิครับ"

      "ถ้ารอยกีบของมันไม่มีเล่า เธอจะทำอย่างไร?"

      "ข้าพเจ้าก็ยังติดตามร่องรอยอย่างอื่น ๆ ของสัตว์นั้นได้อยู่นี่ครับ"

      "ถ้าร่องรอยอะไร ๆ ก็ไม่มีเล่า เธอจะติดตามอะไรได้อย่างไร?"

      "ในกรณีเช่นนั้น มันต้องเป็นเลียงผาที่ตายแล้ว โดยแน่นอน" ภิกษุรูปนั้นได้ตอบไปในที่สุด""

      คำตอบของภิกษุผู้ไล่เลียงผา ในวลีสุดท้ายมีว่า "ในกรณีเช่นนั้น มันต้องเป็นเลียงผาที่ตายแล้ว โดยแน่นอน" คำว่า เลียงผา หมายถึง ความคิดปรุงแต่ง ความหมายของเลียงผาที่ตายแล้ว หมายถึง ความคิดที่ถูกกดทับไว้ให้อยู่นิ่ง ๆ ที่เรียกว่า สมาธิหินทับหญ้านั่นเอง.

      ##ประโยคที่ ๓ ""ท่านครูบาของเราไม่ได้กล่าวอะไรอีกเลยในขณะนั้น แต่ในวันรุ่งขึ้น ครั้นเสร็จการแสดงธรรมแล้ว ท่านได้ร้องว่า "ภิกษุผู้เป็นนักล่าเลียงผาเมื่อวานนี้ โปรดก้าวออกมาที่นี่" ภิกษุรูปนั้นกระทำตามและท่านครูบาของเราได้ถามขึ้นว่า "สงายที่เคารพของข้าพเจ้า เมื่อวานนี้ท่านถูกปล่อยไปโดยไม่มีการพูดอะไร ท่านทราบไหมว่ามันหมายความว่าอย่างไร?""

      ทบทวนคำตอบเกี่ยวกับการล่าเลียงผาในวลีสุดท้ายของภิกษุที่เอามือเขียนอากาศเป็นรูปวงกลมว่า "ในกรณีเช่นนั้น มันต้องเป็นเลียงผาที่ตายแล้ว โดยแน่นอน" หลังจากนั้นก็ไม่ได้พูดอะไรอีก; คำว่า สุนัขไล่เนื้อ หมายถึง สติปัญญา, คำว่า เลียงผา หมายถึง ความคิดปรุงแต่งหรือความรู้สึกที่เป็นอัตตา 

      ที่ว่า เลียงผาที่ตายแล้ว หมายถึง ความคิดที่ถูกข่มไว้, เลียงผาตาย แต่ก็ยังมีตัวเลียงผา ความคิดที่ถูกข่มให้อยู่นิ่ง ๆ แต่ก็ยังมีความคิดอยู่, สิ่งที่เรียกว่า จิตหนึ่ง ซึ่งอยู่เหนือการอุปมา ก็คือ ว่างจากจิตที่อุปมาเหมือนกับเลียงผาที่ตายแล้วด้วย.

      ##ประโยคที่ ๔ ""เมื่อเห็นว่าภิกษุนั้นไม่มีคำตอบอะไร ท่านครูบาได้กล่าวต่อไปว่า "อ้าว ท่านจะเรียกตัวเองว่า เป็นภิกษุที่แท้จริงรูปหนึ่งก็ได้ แต่ที่แท้ท่านเป็นเพียงสามเณรปริยัติสมัครเล่นรูปหนึ่งเท่านั้นเอง""

      ภิกษุรูปดังกล่าวพยายามจะบอกว่า ธรรมะที่แท้นั้นพูดไม่ได้ ต้องหุบปากนิ่งเงียบ แต่ที่จริงเขาไม่พูดแค่วาจา ส่วนจิตใจของเขายังพูดไม่หยุด ก็คือ ยังคิดปรุงแต่งนั่นเอง เช่น ตอนแรกที่มาพบกับท่านฮวงโป ก็ไม่ทำความเคารพตามธรรมเนียม แต่กลับยืนเอามือเขียนอากาศเป็นรูปวงกลม เพื่อต้องการจะบอกคนอื่น ๆ ว่า วงกลม คือ ความว่าง แสดงให้เห็นว่า เขายังมีอัตตาตัวตน

      แต่หลักความเป็นจริงแล้ว สัจธรรมที่แท้ กล่าวคือ จิตหนึ่งนั้น เขียนเป็นรูปอะไรไม่ได้ แม้ว่าเป็นการเขียนในอากาศก็ตาม จะอุปมาเหมือนกับเลียงผาตายก็ไม่ได้ ต้องไม่มีความคิดที่อุปมาเหมือนกับเลียงผาตายด้วย นั่นแหละคือ สุญญตาแท้. (๑๙ มี. ค.๖๕)

No comments yet...

Leave your comment

63246

Character Limit 400