#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

##เงียบทั้งวาจาและจิตใจ.

      ##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๓๕๑ (ตอนจบ) หน้า ๑๓๕; จะขอแบ่งออกเป็น ๔ ประโยค ดังนี้ :-

      ##ประโยคที่ ๑ ""ครั้งหนึ่ง พอท่านครูบาของเราเลิกการประชุมเทศนารอบประจำวันที่อาวาสกาย- ยวน ใกล้ ๆ กับฮุง- เจา บังเอิญข้าพเจ้า (เป่ย- สุ่ย ผู้บันทึกเรื่องนี้) ได้ไปถึงบริเวณนั้นพอดี ทันใดนั้นเอง ข้าพเจ้าได้เหลือบเห็นภาพเขียนที่ฝาผนังภาพหนึ่ง และเมื่อได้ถามภิกษุผู้เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลสถานที่นั้น ก็ได้ทราบว่า เป็นภาพของภิกษุผู้มีชื่อเสียงรูปหนึ่ง""

      เป็นธรรมเนียมของนิกายเซน เมื่อมีครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียง เป็นผู้ที่มหาชนให้ความเคารพนับถือ ก็มักจะเขียนภาพเหมือนไว้เป็นที่ระลึก โดยเฉพาะพระสังฆปริณายก เช่น พระโพธิธรรม ซึ่งเป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่หนึ่ง หรือท่านเว่ยหล่าง ตำแหน่งพระสังฆปริณายกองค์ที่หก เป็นต้น; เป่ย- สุ่ยได้ปรารภต่อไปว่า..

      ##ประโยคที่ ๒ ""ข้าพเจ้าได้พูดว่า "จริงหรือนี่? ถูกแล้ว กระผมได้เห็นภาพเหมือนของท่านผู้นั้นอยู่ตรงหน้าผม แต่ตัวจริงของบุคคลนั้นเล่าอยู่ที่ไหน?" คำถามของข้าพเจ้าได้รับคำตอบเป็นเพียงดุษฎีภาพ""

      เป่า- สุ่ย ตั้งคำถามให้กับตนเอง และสุดท้ายก็มีคำตอบโดยดุษฎีภาพขึ้นมา; จากคำถามที่ว่า "แต่ตัวจริงของบุคคลนั้นเล่าอยู่ที่ไหน?" คำว่า ตัวจริง หมายถึง จิตหนึ่งหรือจิตว่าง ซึ่งเป็นสภาวะที่ตอบไม่ได้ด้วยคำพูดว่า มีตำแหน่งแห่งหนอยู่ตรงไหน คำนวณไม่ได้ด้วยการคิดเอาว่า มีแหล่งสถิตอยู่ ณ ที่ใด คำตอบที่แท้จริง คือ เป็นปัจจัตตัง หมายถึง รู้ได้เฉพาะตน ดังนั้น เป่ย- สุ่ย จึงใช้คำว่า "ข้าพเจ้าได้รับคำตอบเป็นเพียงดุษฎีภาพ" เป็นคำตอบที่ประจักษ์แจ้งด้วยปัญญาญาณ; เป่ย- สุ่ย กล่าวต่ออีกว่า..

      ##ประโยคที่ ๓ ""ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงท้วงว่า "แต่ที่แท้นั้น ภิกษุที่บรรลุเซน ก็มีอยู่ในวิหารนี้มิใช่หรือ?, ถูกแล้ว มีอยู่หนึ่ง""

      จากคำตอบที่ว่า "ถูกแล้ว มีอยู่หนึ่ง" คำว่า มีอยู่หนึ่ง ก็คือ ความว่าง (สุญญตา) นั่นเอง สัจจะหรือความจริง มีหนึ่งเดียวเท่านั้น เรียกว่า เอกภาวะ หมายถึง ความว่าง ซึ่งเป็นอสังขตธรรม เป็นสิ่งที่ปราศจากความปรุงแต่งโดยประการทั้งปวง อยู่เหนือของคู่ทุกชนิด เช่น เหนือบุญ เหนือบาป เหนือสุข เหนือทุกข์ เหนือดี เหนือชั่ว เป็นต้น ความคิดปรุงแต่งในลักษณะที่เป็นคู่ ๆ คือ อุปสรรคหรือสิ่งขวางกั้นต่อสัจธรรมความจริง มิให้ประจักษ์แจ้งออกมา ดังนั้น สิ่งที่ต้องจัดการโดยตรง ก็คือ ความคิดปรุงแต่งที่ติดพันอยู่กับความเป็นคู่ ๆ นั่นเอง.

      ##ประโยคที่ ๔ ""หลังจากนั้น ข้าพเจ้าได้เข้าไปในที่ประชุมใหญ่พร้อมทั้งท่านครูบา และได้เล่าถึงการสนทนาเมื่อตะกี้หยก ๆ แก่ท่าน.

      "เป่ย- สุ่ย!" ท่านร้องขึ้นดัง ๆ.

      "ขอรับ!" ข้าพเจ้าขานรับด้วยความเคารพ.

      "เธออยู่ที่ไหน?"

      เมื่อได้เห็นว่า ไม่มีคำตอบใด ๆ ที่อาจตอบแก่คำถามเช่นนั้นได้ ข้าพเจ้าก็ได้ขอร้องให้ท่านครูบาของเรากลับเข้าไปในโรงแสดงธรรม และแสดงธรรมต่อไป""

      ท่านฮวงโปได้ถามเป่ย- สุ่ยว่า "เธออยู่ที่ไหน?" แต่เป่ย- สุ่ย นิ่งเงียบ ไม่มีคำตอบใด ๆ และนั่นแหละคือ คำตอบที่เป็นสัจจะอย่างแท้จริง สัจธรรมไร้คำพูด ว่างจากตัวตน เงียบทั้งคำพูด เงียบทั้งจิตใจ สุญญตา. (๒๓ มี. ค.๖๕)

No comments yet...

Leave your comment

45050

Character Limit 400