#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

#สิ่งคู่เป็นมายา.

      #คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง (บทที่ ๒) ขอแบ่งเป็น ๒ ตอน, ตอนแรก แบ่งออกเป็น ๗ ประโยค ดังนี้ :-

      #ประโยคที่ ๑ "เมื่อผู้คนเห็นว่าบางสิ่งสวย สิ่งอื่นก็กลายเป็นสิ่งน่าเกลียด"

      ความสวยความน่าเกลียดเป็นลักษณะของสิ่งคู่ เรียกว่า คติทวินิยม ที่จริงเป็นเพียงความคิดสำคัญมั่นหมายที่เกิดขึ้นมาในจิตใจ ไปให้ค่าให้ความหมายว่า สิ่งนี้สวย สิ่งนี้ไม่สวย สิ่งนี้งดงาม สิ่งนี้น่าเกลียดน่าชัง.

      #ประโยคที่ ๒ "เมื่อผู้คนเห็นว่าบางสิ่งดี สิ่งอื่นก็กลายเป็นสิ่งเลว"

      ความดี ความเลวก็เป็นลักษณะของคู่เช่นเดียวกัน ถ้ามีสิ่งดี ก็ต้องมีสิ่งเลว ถ้ามีคนดี ก็ต้องมีคนเลว การทำความดีที่ประกอบด้วยอุปาทาน ก็จะเป็นความดีที่ไม่บริสุทธิ์ ความดีที่ประกอบด้วยอุปาทาน ชื่อว่า เป็นความดีที่เป็นคู่กับความเลว.

      #ประโยคที่ ๓ "เป็นกับไม่เป็นต่างเสริมสร้างกันและกัน"

      เป็นกับไม่เป็น ก็คือ ภวตัณหากับวิภวตัณหานั่นเอง ภวตัณหา คือ อยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่ อยากเป็นนายก อยากเป็นรัฐมนตรี ฯลฯ, วิภวตัณหา คือ อยากจะไม่เป็นนั่น อยากจะไม่เป็นนี่ หรือที่เรียกว่า ยินดี ยินร้าย, อยากเป็น ก็คือ ยินดี อยากไม่เป็น ก็คือ ยินร้าย.

      #ประโยคที่ ๔ "ยากกับง่าย ก็ค้ำจุนกันและกัน"

      มีคำกล่าวว่า ในองค์กรใดก็ตาม ถ้าบุคคลในองค์กรช่วยกันทำงาน ไม่เห็นแก่ตัว ไม่นิ่งดูดาย งานที่ยาก ก็จะกลายเป็นงานง่าย งานที่หนัก ก็จะกลายเป็นงานเบา งานที่ใหญ่ ก็จะกลายเป็นงานเล็ก แต่ถ้ามองในแง่ของจิตใจ ยากกับง่าย เป็นเพียงความคิดที่เข้าไปให้ค่าความหมาย.

      #ประโยคที่ ๕ "ยาวกับสั้น ก็นิยามกันและกัน"

      ถ้ามียาว ก็ต้องมีสั้นเป็นตัวเปรียบเทียบ ความหมายในภาษาธรรม ก็คือ ความอยาก (ตัณหา) ที่เกิดขึ้นในใจ ยกตัวอย่าง มีเชือกอยู่เส้นหนึ่งประมาณสองเมตร ถ้าบุคคลต้องการเชือกสามเมตร เชือกสองเมตรก็สั้น แต่ถ้าบุคคลต้องการเชือกเมตรเดียว สองเมตรก็กลายเป็นยาว.

      #ประโยคที่ ๖ "สูงกับต่ำ ก็พึ่งพิงกันและกัน"

      ถ้ามีสูง ก็ต้องมีต่ำคู่กัน ฉะนั้น ความสูงกับความต่ำจึงต้องพึ่งพิงซึ่งกันและกัน มักจะได้ยินคำพูดที่ว่า ปุถุชนจิตใจต่ำ เพราะถูกกิเลสครอบงำ อริยชนจิตใจสูง เพราะมีสติปัญญา จิตจึงอิสระอยู่เหนือกิเลส แต่สัจธรรมที่แท้จริง ไม่มีความคิดว่าสูง ไม่มีความคิดว่าต่ำ.

      #ประโยคที่ ๗ "ก่อนกับหลัง ก็ตามกันและกัน"

      ถ้ามีก่อน ก็ต้องมีหลังคู่กัน ก่อนหลังใช้ได้กับสมมุติบัญญัติของสังคม แต่ภาษาธรรม คือ ความสำคัญมั่นหมาย เป็นเพียงความคิดปรุงแต่ง คิดว่า มีก่อน คิดว่า มีหลัง สิ่งที่เรียกว่า ความว่าง ซึ่งเป็นความจริงแท้ หมายถึง ว่างจากความคิดว่า มีก่อน มีหลัง. (๒๕ เม. ย.๖๖)

No comments yet...

Leave your comment

79587

Character Limit 400