#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
#เต๋าไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง (บทที่ ๒) ตอนที่ ๒ แบ่งออกเป็น ๖ ประโยค ดังนี้:-
#ประโยคที่ ๑ "ผู้รู้จึงทำโดยไม่ลงมืออะไร"
ผู้รู้ ก็คือ ผู้ที่ปราศจากความคิดปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง พระอรหันต์ คือ ผู้รู้ที่แท้จริง คำว่า ทำโดยไม่ลงมืออะไร หมายความว่า ทำด้วยสติปัญญา ไม่มีตัวกูผลักดันให้กระทำ การกระทำด้วยตัวกู เรียกว่า กรรม แต่การกระทำด้วยสติปัญญาล้วนๆ ไม่เจือด้วยตัวกู เรียกว่า กิริยา.
#ประโยคที่ ๒ "สอนโดยไม่พูดอะไร"
สัจธรรมอยู่เหนือคำพูด ต้องหุบปากเงียบ ดังคำกล่าวที่ว่า "ธรรมชาติเดิมแท้ของจิตนั้น ถ้าผู้ใดเข้าใจซึมซาบแล้ว คำพูดของมนุษย์ไม่สามารถหว่านล้อมหรือเปิดเผยมันได้" สอนด้วยการไม่ต้องเอ่ยวาจา นั่นคือ คำสอนที่ล้ำลึก.
#ประโยคที่ ๓ "เกิดอะไรขึ้นก็ปล่อยมันเกิดไป"
ข้อความนี้ ถ้ามองอย่างผิวเผินก็เหมือนกับปล่อยปละละเลย ไม่รับผิดชอบอะไร แต่ถ้ามองอย่างลึกซึ้ง ก็คือ จิตอิสรภาพเสรีภาพ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ทำหน้าที่ไปด้วยสติปัญญาล้วนๆ ทำด้วยการไม่กระทำ เกิดอะไรขึ้นก็ไม่มีความรู้สึกยินดี ยินร้าย.
#ประโยคที่ ๔ "สิ่งที่เกิดมาแล้วหายไป ก็ปล่อยมันหายไป"
คนส่วนมากมักจะยึดติดอดีต เหตุการณ์ผ่านไปแล้ว แต่จิตใจยังอาลัยอาวรณ์ ไม่ยอมปล่อยวาง เรียกว่า ไม่ฉลาดในเรื่องของอดีต สำหรับผู้ที่มีสติปัญญา ประจักษ์แจ้งต่อความว่าง สิ่งใดที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าก็ไม่ยึดถือ ครั้นผ่านไปก็ไม่อาลัยอาวรณ์.
#ประโยคที่ ๕ "ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงอะไรได้ แต่ไม่เป็นเจ้าของ"
การเป็นเจ้าของ ก็คือ การยึดมั่นถือมั่น สร้างสิ่งใดขึ้นมา สิ่งนั้นก็เป็นของฉัน ไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวาง แต่ผู้ที่มีสติปัญญาแหลมคม เห็นแจ้งต่อสัจธรรม (เต๋า) จะทำสิ่งใด ก็ทำด้วยสติปัญญา โดยที่จิตใจไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นเรา เป็นของเรา.
#ประโยคที่ ๖ "ทำอะไรไม่หวังผล ทำเสร็จแล้วก็ลืมมันเสีย ทำให้ผลงานคงอยู่ยั่งยืน"
ที่ว่า ไม่หวังผล หมายถึง ไม่หวังด้วยกิเลสตัณหา แต่ทำไปด้วยสติปัญญาล้วนๆ ทำด้วยจิตว่าง ถ้าทำหน้าที่ไปด้วยสติปัญญา ผลงานที่เกิดขึ้น ก็มีความมั่นคงและยั่งยืน. (๒๗ เม. ย.๖๖)