#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

#ไม่ยกย่องคนเก่ง.

      #คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง (บทที่ ๓) จะขอแบ่งออกเป็น ๖ ประโยค ดังนี้:-

      #ประโยคที่ ๑ "ไม่ยกย่องผู้ปรีชาสามารถมาก ประชาชนก็ไม่แก่งแย่งชื่อเสียงลาภยศ"

      ผู้ปรีชาสามารถมาก หมายถึง ผู้มีตำแหน่งหน้าที่สูง มีโอกาสในเรื่องของผลประโยชน์มาก ถ้าสร้างค่านิยมในการยกย่องบุคคลประเภทนี้ ประชาชนก็อยากจะเป็น อยากจะมีบ้าง ก็เป็นเหตุให้เกิดการแก่งแย่งกัน. 

      #ประโยคที่ ๒ "ให้คุณค่ากับการครอบครองมาก ผู้คนก็เริ่มลักขโมย"

      การยกย่องคนรวย ทั้งๆ ที่ได้มาในทางทุจริตผิดกฎหมายและไม่ยกย่องคนดีมีคุณธรรม ก็ทำให้ผู้คนลักขโมย ทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งๆ ที่ตนเองก็ฐานะร่ำรวย ไม่ลำบากยากแค้น ฉะนั้นควรจะมายกย่องคนดีมีคุณธรรม แล้วสังคมก็จะอยู่กันอย่างผาสุก.

      #ประโยคที่ ๓ "ผู้รู้นำผู้คนโดยการให้ผู้คนทิ้งความคิด หันไปหาแก่นแท้"

      คำว่า แก่นแท้ ก็คือ จิตว่าง (เต๋า) ซึ่งเป็นสภาวะที่ปราศจากความคิดปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง แต่บริบูรณ์อยู่ด้วยสติปัญญา คำว่า ผู้รู้ ก็คือ ผู้ที่เห็นแจ้งจิตว่าง จะเห็นแจ้งจิตว่างได้ ต้องละทิ้งความคิดปรุงแต่ง ทำหน้าที่ต่างๆ ไปด้วยสติปัญญาล้วนๆ.

      #ประโยคที่ ๔ "ลดความทะยานอยาก หันไปหาการปล่อยวาง"

      ความทะยานอยาก หมายถึง ตัณหา ถ้าทำหน้าที่ดำเนินชีวิตไปด้วยความทะยานอยาก ตนเองก็เป็นทุกข์ สังคมก็เดือดร้อน ฉะนั้น ท่านจึงแนะนำให้ปล่อยวาง ไม่ยึดถือ; ปล่อยวางไม่ใช่ปล่อยปละละเลย แต่เป็นการปล่อยชนิดที่ประกอบด้วยสติปัญญา เป็นผู้รับผิดชอบ.

      #ประโยคที่ ๕ "ช่วยให้คนทิ้งทุกอย่างที่รู้มาแล้วเสีย ทิ้งความอยากเสียอีกด้วย"

      คำว่า ทุกอย่างที่รู้มาแล้ว จะระบุไปยังความรู้ที่เป็นปริยัติก็ได้ ซึ่งเป็นความรู้จำ รู้คิด หลายคนมักจะเข้าไปยึดติดหลงเพลินอยู่กับความรู้ที่เป็นปริยัติ ก็จะเข้าทำนองที่ว่า ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด ฉะนั้น ต้องปล่อยวาง (ทิ้ง).

      #ประโยคที่ ๖ "ใครที่คิดว่าตนเองรู้ดี ก็ทำให้มึนๆ งงๆ เสียบ้าง จากนั้นแล้วไม่ต้องทำอะไร ปล่อยให้ทุกอย่างลงตัวของมันเอง"

      การทำมึนๆ งงๆ เป็นการฝึกเพื่อละความรู้ความฉลาดที่ยึดติดอยู่ในปริยัติ เมื่อปราศจากความรู้จำ รู้คิดเข้ามาขวางกั้น ความรู้แจ้งก็จะทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ ทุกอย่างก็สมดุล. (๑ พ. ค.๖๖)

No comments yet...

Leave your comment

37221

Character Limit 400