#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
#บ่อน้ำแห่งเต๋า.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง (บทที่ ๔) ขอแบ่งออกเป็น ๔ ประโยค ดังนี้:-
#ประโยคที่ ๑ "เต๋าเหมือนบ่อน้ำที่ใช้ได้ไม่มีวันแห้ง"
บ่อน้ำที่ไม่แห้ง ก็เพราะมีตาน้ำไหลผ่านเข้ามารอบด้าน เต๋าท่านเปรียบกับบ่อน้ำ ซึ่งเป็นธรรมชาติไม่ขึ้นไม่ลง ไม่ล้นไม่ขาด สิ่งที่มีขึ้นมีลง มีล้นมีพร่อง เป็นลักษณะของสิ่งปรุงแต่ง (สังขตะ) แต่สภาวะที่เรียกว่า เต๋า เป็นอสังขตะ คือ ธรรมชาติที่ปราศจากความปรุงแต่ง ดังนั้น ท่านจึงเปรียบเสมือนน้ำบ่อที่ไม่มีวันแห้ง.
#ประโยคที่ ๒ "เหมือนความว่างที่มีเนื้อในเป็นความเป็นไปได้อันไม่มีที่สิ้นสุด"
เต๋าเป็นธรรมชาติที่เป็นไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เรียกว่า อนันตะ คือ สภาวะแห่งความว่างที่ไร้ขอบเขตจำกัด คำว่า ไม่มีที่สิ้นสุด มองได้สองความหมาย ความหมายแรก ย้อนไปในอดีต ไม่มีจุดตั้งต้น ย้อนดูไปในอนาคต ก็ไม่มีจุดจบ ทีนี้ความหมายที่สอง ว่างไม่มีที่สิ้นสุด หมายความว่า ไร้ขอบเขตจริงๆ.
#ประโยคที่ ๓ "มองไม่เห็นแต่อยู่ที่นั่นเสมอ"
สิ่งที่มองเห็นได้ ก็คือ ธรรมชาติที่ปรุงแต่ง (สังขตะ) เช่น รูปธรรมต่างๆ สามารถเห็นได้ด้วยตาเนื้อ แม้สิ่งปรุงแต่งที่เป็นนามธรรม เช่น ความคิด ความรู้สึก ก็เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ ซึ่งเห็นด้วยตาปัญญาระดับโลกิยะ แต่สิ่งที่เรียกว่า เต๋า เป็นอสังขตะ มิใช่รูป มิใช่นาม ฉะนั้น ตาสติปัญญาระดับโลกิยะจึงมองไม่เห็น แต่มองเห็นได้ด้วยตาสติปัญญาระดับโลกุตระ.
#ประโยคที่ ๔ "ข้าก็ไม่รู้ว่าใครสร้างเต๋าขึ้นมา มันอยู่มาก่อนพระเจ้าเสียด้วยซ้ำ"
ศาสนาที่มีความเชื่อเรื่อง พระเจ้าหรือ God เช่น ศาสนาฮินดู เป็นต้น ท่านเหลาจื่อบอกว่า เต๋ามีมาก่อนพระเจ้า ท่านคงจะมองว่า มนุษย์เป็นผู้สร้างพระเจ้าขึ้นมา แต่เต๋าเป็นสิ่งที่มีเองโดยธรรมชาติ ไม่มีใครเป็นผู้สร้าง ไม่มีผู้ใดเป็นคนบัญญัติ เป็นสภาวะที่เรียกว่า อมตะนิรันดร. (๙ พ. ค.๖๖)