#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
#เต๋าไม่เข้าข้างใคร.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง (บทที่ ๕) จะแบ่งออกเป็น ๖ ประโยค ดังนี้:-
#ประโยคที่ ๑ "เต๋าไม่เข้าข้างใคร มันให้กำเนิดทั้งดีและชั่ว"
เต๋า ก็คือ ความว่าง ซึ่งเป็นสภาวะดั้งเดิม สรรพสิ่งปรุงแต่งทั้งมวล เริ่มแรกจริงๆ ไม่มีอยู่ก่อน แต่พอมีเหตุปัจจัย ก็มีขึ้นมา สุดท้ายก็ต้องกลับคืนสู่ความไม่มี ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เต๋าให้กำเนิดทั้งดีและชั่ว เต๋าเปี่ยมด้วยเมตตาธรรมอันบริสุทธิ์ จึงไม่เข้าข้างใคร ไร้อคติ.
#ประโยคที่ ๒ "ผู้รู้ก็ไม่เข้าข้างใคร จึงต้อนรับทั้งนักบุญและคนบาป"
ผู้รู้ หมายถึง ผู้ที่เห็นแจ้งสัจธรรม กล่าวคือ เต๋า ถ้าตามหลักของพุทธศาสนา เรียกว่า พระอรหันต์ การเข้าข้างเป็นลักษณะของอคติ เช่น ต้อนรับนักบุญ แต่ปฏิเสธคนบาป ฉะนั้น ผู้รู้แจ้งเห็นจริง ไม่มีอคติกับใครๆ.
#ประโยคที่ ๓ "เต๋าเหมือนสูบลมที่กลวงเปล่า แต่มีความสามารถไม่สิ้นสุด"
จิตว่างมีคุณสมบัติสำคัญอยู่ ๓ อย่าง คือ ๑) บริสุทธิ์ถึงที่สุทธิ์ ว่างจากกิเลส. ๒) ตั้งมั่นถึงที่สุด ปราศจากความคิดปรุงแต่ง และ ๓) มีสมรรถนะในการทำหน้าที่ ท่านจึงเปรียบดั่งสูบลมที่กลวงเปล่า แต่มีความสามารถไม่สิ้นสุด.
#ประโยคที่ ๔ "ยิ่งใช้มันมาก มันยิ่งให้ผลมาก"
ผู้ใช้เต๋า คือ ผู้ที่เห็นแจ้งอยู่กับเต๋า ผู้ที่ใช้เต๋ามาก ก็คือ ผู้ที่ประจักษ์แจ้งอยู่กับเต๋าอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่ปล่อยให้ความคิดปรุงแต่งเกิดขึ้นมา พระอรหันต์ คือ ผู้ใช้ความว่างมากที่สุด สิ่งที่เรียกว่า กิเลสอาสวะไม่มีอีกต่อไป.
#ประโยคที่ ๕ "แต่ยิ่งพูดถึงมันมาก ยิ่งเข้าใจมันน้อย"
เต๋าเป็นสภาวะที่อยู่เหนือคำพูด ผู้เห็นแจ้งเต๋าอย่างแท้จริง ย่อมนิ่งสงบ หุบปากเงียบ ฉะนั้น ท่านจึงชี้ให้เห็นว่า ยิ่งพูดถึงมันมาก ก็ยิ่งเข้าใจมันน้อย ดังคำกล่าวที่ว่า "ผู้รู้ไม่พูด ผู้พูดไม่รู้" คำพูดออกมาจากความคิด เมื่อว่างจากความคิด คำพูดจึงไม่มี.
#ประโยคที่ ๖ "จงอยู่นิ่งๆ ที่ตรงกลางก็พอ"
คำว่า ตรงกลาง ไม่ใช่กลางที่อยู่ระหว่างซ้ายกับขวา แต่หมายถึง กลางที่ไม่มีทั้งซ้าย ไม่มีทั้งขวา และไม่มีทั้งกลางที่อยู่ระหว่างซ้ายกับขวาด้วย ก็คือ ความว่าง (เต๋า) การมีสติปัญญาประจักษ์แจ้งต่อความว่าง นั่นแหละเรียกว่า อยู่นิ่งๆ ที่ตรงกลาง. (๑๕ พ. ค.๖๖)