#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

#เต๋าเป็นนิรันดร์.

      #คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง (บทที่ ๗) จะแบ่งออกเป็น ๕ ประโยค ดังนี้:-

      #ประโยคที่ ๑ "เต๋าไม่มีที่สิ้นสุด เป็นนิรันดร"

      เต๋า ก็คือ ความว่าง ธรรมชาติแห่งเต๋านั้น ว่างชนิดที่ไม่มีที่สิ้นสุด ที่ว่า ไม่มีที่สิ้นสุด อธิบายได้ ๒ ความหมาย คือ ๑) ย้อนไปในอดีต หาจุดเริ่มต้นว่า อยู่ตรงไหน ไม่มีจุดเริ่มต้น ย้อนมองไปในอนาคต จุดที่สุดอยู่ตรงไหน ก็หาไม่เจอจุดที่สุด. และ ๒) เต๋าว่างชนิดที่ไม่มีที่สิ้นสุด ว่างอย่างไร้ขอบเขตจำกัด เป็นนิรันดร คือ ไม่มีในระหว่าง ปราศจากความคิดปรุงแต่งโดยสิ้นเชิง.

      #ประโยคที่ ๒ "ทำไมจึงเป็นนิรันดร เพราะมันไม่เคยเกิด ไม่เคยตาย ไม่มีความอยากของมันเอง แต่ดำรงอยู่เพื่อสรรพสิ่ง"

      ความเกิด ความตาย (ดับ) ของความคิดปรุงแต่ง เป็นสิ่งบดบังสัจจะแห่งเต๋า ซึ่งเป็นอมตะนิรันดร์ ถ้าในพุทธศาสนา เรียกว่า อสังขตะ ก็คือ ไม่ปรุงแต่ง ปราศจากการเปลี่ยนแปลงด้วยประการทั้งปวง และเป็นธรรมชาติหล่อเลี้ยงสรรพสิ่ง.

      #ประโยคที่ ๓ "ผู้รู้อยู่ข้างหลัง เขาจึงกลายเป็นผู้นำหน้า"

      ผู้รู้ หมายถึง ผู้เห็นแจ้งสัจจะแห่งเต๋า ผู้รู้อยู่ข้างหลัง หมายความว่า ผู้เห็นแจ้งเต๋า ย่อมไม่ชอบโอ้อวด ไม่ชอบแสดงตัวให้ปรากฏในทางสังคม ที่ว่า เขาจึงกลายเป็นผู้นำหน้า หมายความว่า สังคมให้เกียรติ ยกย่องให้ขึ้นมาเป็นผู้นำ ผู้เห็นแจ้งเต๋ามีลักษณะที่เรียกว่า คมในฝัก นิ่งสงบ แต่จิตใจเปี่ยมอยู่ด้วยความฉลาดอย่างแท้จริง.

      #ประโยคที่ ๔ "เขาละวางทุกสิ่ง จึงเป็นหนึ่งเดียวกับเต๋า"

      ผู้ใดละวางทุกสิ่ง ไม่ยึดติดอยู่กับอะไร ผู้นั้นย่อมเป็นหนึ่งเดียวกับเต๋า การยึดติด คือ อุปสรรคที่เข้ามาปิดกั้น ทำให้ห่างไกลต่อสัจธรรม การละ การปล่อย การวาง วางจนไม่มีอะไรเหลือ แม้แต่ผู้วางก็ต้องไม่มี ว่างจากผู้วาง ว่างจากกิริยาอาการวาง และว่างจากสิ่งที่ถูกวาง.

      #ประโยคที่ ๕ "ปล่อยวางตัวตนของตนเอง จึงมีชีวิตที่สุขสมบูรณ์ดี"

      ปุถุชนมองเห็นว่า ขันธ์ห้าเป็นอัตตา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นตัวตน แต่โดยธรรมชาติจริงๆ แล้วไร้ตัวตน (อนัตตา) ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปล่อยวางตัวตนของตนเอง จึงมีชีวิตที่สุขสมบูรณ์ดี สุขในที่นี้ คือ สุขที่ไร้สุข หรือสุขสงบนั่นเอง ความจริงโดยสมมุติ ชีวิตมีอยู่ แต่ความจริงโดยปรมัตถ์ ชีวิตไม่มี (เต๋า). (๘ มิ. ย. ๖๖) 

No comments yet...

Leave your comment

60150

Character Limit 400