#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

#ความพอดี.

      คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง (บทที่ ๙) จะแบ่งออกเป็น ๕ ประโยค ดังนี้:-

      #ประโยคที่ ๑ "ถ้าเติม (น้ำใส่) ถ้วยจนปริ่ม มันก็จะหก"

      ท่านมีความประสงค์จะชี้ให้เห็นประโยชน์ของความพอดี เติมน้ำลงในถ้วยน้อยเกินไป ก็ไม่สมบูรณ์ เป็นความสุดโต่งอย่างหนึ่ง เติมน้ำลงในถ้วยจนปริ่มล้น ก็ไม่ถูกต้อง เป็นความสุดโต่งอีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน ฉะนั้น การเติมน้ำลงในถ้วยอย่างถูกวิธี ก็คือ ความพอดี การกระทำในทุกเรื่อง ต้องรู้จักความพอดี เรียกว่า มัชฌิมา.

      #ประโยคที่ ๒ "ถ้าลับมีดมากเกินไป มันก็จะทื่อ"

      การลับมีดต้องมีเทคนิคเหมือนกัน ถ้าลับไม่เป็น ยิ่งลับก็ยิ่งทื่อ ผู้ที่ฉลาดในการลับมีด ก็คือ รู้จักระดับของความพอดี ลับไม่ถึงพอดี มีดก็ไม่คม ลับเกินพอดี มีดก็ทื่อไม่คมเช่นกัน ไม่ถึงพอดี เรียกว่า ย่อหย่อน เกินพอดี เรียกว่า ตึง การลับมีดถ้ารู้จักความพอดี ก็จะได้มีดที่คมกริบ.

      #ประโยคที่ ๓ "เก็บหยกทองคำไว้เต็มหอ หัวใจคงจะไม่มีวันได้ผ่อนคลาย"

      การมีทรัพย์สินไว้มาก ก็ทำให้เกิดความวิตกกังวล กลัวขโมยจะมาลักบ้าง กลัวโจรจะมาปล้นบ้าง ชีวิตไม่มีความสงบสุข; หลายคนมีความเข้าใจผิดว่า เงินวัตถุให้ความสุข แต่ที่จริงเงินวัตถุอำนวยความสะดวกทางร่างกายเท่านั้น จิตใจไม่มีกิเลสต่างหากให้ความสุข (สุขสงบเย็น).

      #ประโยคที่ ๔ "หยิ่งลำพองตน ก็รังแต่จะสร้างภัยพิบัติสู่ตนเอง"

      คำว่า ภัยพิบัติมีอยู่ ๒ ความหมาย: ๑) ภัยพิบัติที่เกิดจากบุคคลภายนอก และ ๒) ภัยพิบัติที่เกิดจากกิเลสเข้ามาครอบงำในทางจิตใจ; ความหยิ่งลำพองตน สร้างภัยพิบัติทั้งภายนอกและทั้งในทางจิตใจ การแสดงความอวดดี เย่อหยิ่งจองหอง สังคมก็รังเกียจ จิตใจตนเองก็เป็นทุกข์.

      #ประโยคที่ ๕ "ทำงานของเจ้าเสร็จแล้วถอนตัว เป็นทางเดียวที่จะพบความสงบเย็น"

      ที่ท่านกล่าวว่า ทำงานเสร็จแล้วให้ถอนตัว หมายถึง การทำงานด้วยสติปัญญา ทำเสร็จก็จบกันไป ไม่ผูกพันยึดติด ไม่อาลัยอาวรณ์กับอดีต ท่านยืนยันว่า เป็นทางเดียวเท่านั้น ที่จะพบกับความสงบเย็นได้ คนส่วนมากมักจะทำงานด้วยความยึดมั่นถือมั่น ชีวิตจึงมีแต่ความเครียด ฉะนั้นต้องถอนตัว. (๒๑ มิ. ย. ๖๖)

No comments yet...

Leave your comment

59473

Character Limit 400